นักวิจัยกรมวิชาการเกษตรค้นพบเครื่องหมายโมเลกุลใหม่ต้านทาน”โรคใบด่าง”มันสำปะหลัง

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรมีเทคโนโลยีที่ช่วยร่นระยะเวลาการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังให้มีลักษณะดีโดยใช้เครื่องหมายโมเลกุล(Molecular marker) ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมบ่งบอกเอกลักษณ์ประจำพันธุ์หรือบ่งชี้ยีนที่ควบคุมลักษณะต่างๆ ทำให้สามารถคัดเลือกพันธุ์พืชที่มีลักษณะที่ต้องการได้ โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลคัดเลือกพันธุ์มันสำปะหลังที่มีความต้านทานโรคใบด่างมันสำปะหลัง ไซยาไนด์ต่ำ และต้านทานโรครากปม

สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพได้พัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลชนิดสนิปส์ จำนวน 3 เครื่องหมาย เพื่อใช้คัดเลือกพันธุ์มันสำปะหลังที่มีความต้านทานโรคใบด่างมันสำปะหลัง ไซยาไนด์ต่ำ และต้านทานโรครากปมซึ่งเป็นแนวทางในการช่วยร่นระยะเวลาการปรับปรุงพันธุ์ให้มีลักษณะที่ดีหลายประการในต้นเดียวให้มีลักษณะที่เกษตรกรต้องการ

8CC00D8A 447B 46F0 BFA4 9B3877C980B6

เครื่องหมายโมเลกุลชนิดสนิปส์ มีประโยชน์ในการจำแนกพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์พืชที่มีลักษณะที่ต้องการเครื่องหมายสนิปส์มีตำแหน่งใกล้กับยีนควบคุมลักษณะมากเท่าใด ความแม่นยำในการคัดเลือกพันธุ์พืชยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น เครื่องหมายโมเลกุลชนิดสนิปส์ใหม่และพัฒนาไพรเมอร์ในการตรวจสอบสารพันธุกรรมที่สัมพันธ์กับลักษณะต้านทานโรคใบด่างมันสำปะหลัง ไซยาไนด์ต่ำ และต้านทานโรครากปมด้วยเทคนิคtetra-primer ARMS-PCR มีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบต่ำ

4C69F53A B75F 445B 95E2 AF9078461229

เครื่องหมายสนิปส์ลักษณะความต้านทานโรคใบด่างมันสำปะหลังพบว่าตำแหน่งอยู่ระหว่างยีนPeroxidase ที่ทำหน้าที่ในระบบป้องกันของพืช เช่น การสร้างความแข็งแรงให้ผนังเซลล์พืช การสังเคราะห์สารต้านการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์สาเหตุโรคพืช ส่วนการค้นพบเครื่องหมายสนิปส์ที่สัมพันธ์กับลักษณะความต้านทานโรครากปมในยีน E3 ubiquitin ligase และเครื่องหมายสนิปส์ลักษณะปริมาณไซยาไนด์ต่ำในยีน Calcium-dependent protein kinase 29 ยังไม่เคยถูกค้นพบมาก่อน ผลการทดสอบความถูกต้องของเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกพันธุ์ พบว่า ทั้ง 3 เครื่องหมายที่พัฒนาขึ้นมีความถูกต้องมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพสูงในการคัดเลือกพันธุ์ นักปรับปรุงพันธุ์สามารถนำเครื่องหมายสนิปส์ทั้ง 3 ชุดไพรเมอร์ไปใช้ในการคัดเลือกพันธุ์มันสำปะหลัง เพื่อพัฒนาพันธุ์ดีให้แก่เกษตรกรได้

6F1DC82D B962 44BC 888B 566D0300C5FF

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า “การคัดเลือกพันธุ์พืชด้วยเครื่องหมายโมเลกุลมีประโยชน์ต่อการปรับปรุงพันธุ์อย่างมาก เนื่องจากช่วยลดจำนวนพืชที่จะปลูกเพื่อคัดเลือก ทำให้สามารถลดพื้นที่ปลูก แรงงาน และค่าใช้จ่าย ได้ถึง 10 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการคัดเลือกแบบเดิมที่ใช้ลักษณะปรากฏอีกทั้งสามารถตรวจคัดเลือกได้หลายลักษณะพร้อมกัน นอกจากนี้เครื่องหมายสนิปส์ของลักษณะปริมาณไซยาไนด์ต่ำ ได้ขอจดอนุสิทธิบัตรในนามของกรมวิชาการเกษตร เลขที่คำขอ 2203000058 เรียบร้อยแล้ว 

หน่วยงานสามารถนำเครื่องหมายสนิปส์ทั้ง 3 ชุดไพรเมอร์ ไปใช้คัดเลือกพันธุ์ได้ทันที ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ โทร. 0-2904-6885”