GISTDA ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2565 ที่ได้จากภาพถ่ายของดาวเทียม ICEYE พบพื้นที่น้ำท่วมในบริเวณบางส่วนของลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งสิ้น 70,109 ไร่ ในเขตจังหวัดชัยภูมิ 68,214 ไร่ และนครราชสีมา 1,895 ไร่ โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาข้าวทั้งสิ้น 63,717 ไร่ นอกจากนี้ ยังเป็นชุมชนที่อยู่อาศัย และเส้นทางคมนาคมบางส่วน
นอกจากนี้จากภาพถ่ายดาวเทียม ยังพบพื้นที่น้ำท่วมขังกระจายเป็นวงกว้างในเขตอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมลุ่มต่ำ ชุมชนที่อยู่อาศัย และเส้นทางคมนาคม
GISTDA ระบุว่า มวลน้ำเหล่านี้จะไหลต่อไปทางทิศตะวันออกผ่านจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร จากนั้นจะไหลลงสู่แม่น้ำมูลที่อุบลราชธานี ก่อนลงสู่แม่น้ำโขงต่อไป ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวและใกล้เคียง โดยเฉพาะตามแนวริมตลิ่ง ริมลำน้ำสายหลักสายรอง ให้เฝ้าสังเกตสถานการณ์และติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด
และสถานการณ์ดังกล่าว GISTDA ได้ส่งข้อมูลภาพจากดาวเทียมดังกล่าวให้กับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ เพื่อนำไปใช้สนับสนุนในการบริหารจัดการตามภารกิจ ทั้งด้านการวางแผน และการติดตาม เพื่อประเมินสถานการณ์ต่อไป
กรมชลฯ ย้ำน้ำเขื่อนป่าสักฯ ไม่เข้าเทศบาลนครรังสิต
นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ชี้แจงกรณีที่มีการแชร์แจ้งเตือนว่า กรมชลประทาน จะผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และจะเข้าสู่พื้นที่ เทศบาลนครรังสิต ในไม่ช้านี้นั้น เป็นความเข้าใจผิดและไม่เป็นความจริง
การปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในครั้งนี้ จะมีการรับน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์ตามศักยภาพของคลองที่รับได้พร้อมกับระบายออกไปทางระบบชลประทานและคลองต่าง ๆ
– ทั้งคลองแนวขวาง(ลงสู่แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง)
– และแนวดิ่งฝั่งตะวันออกลงสู่ทะเลอ่าวไทยเป็นหลัก
ปริมาณน้ำตามที่กล่าวอ้าง จึงไม่ได้ผ่านเข้าสู่พื้นที่เทศบาลนครรังสิตแต่อย่างใด จึงแจ้งมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน