ปริมาณน้ำฝน-น้ำท่า ไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก กรมชลประทาน ปรับเพิ่มการระบายน้ำตามมติคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ แจ้งเตือน 6 จังหวัดท้ายน้ำ
จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา สรุปลักษณะอากาศในช่วงวันที่ 30 ก.ย. – 6 ต.ค. 65 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุ “โนรู ” ปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ในวันที่ 30 ก.ย. 65 และปกคลุมด้านตะวันตกของภาคเหนือในวันที่ 1 ต.ค. 65 ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน ในช่วงวันที่ 1 – 2 ต.ค. 65 และพาดผ่านบริเวณภาคกลางตอนล่างในวันที่ 3 ต.ค. 65 นอกจากนี้มีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ในวันที่ 30 ก.ย. – 2 ต.ค. 65 ทำให้มีฝนตกหนักและหนักมาก
อย่างต่อเนื่อง บริเวณพื้นที่รับน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจำนวนมาก เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 65 มีปริมาณน้ำ 1,077 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 112 ของความจุอ่างฯ นั้น
กรมชลประทาน ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำที่จะเกิดจากปริมาณฝนตามข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ว่าจะมีปริมาณน้ำฝนไหลเข้าเขื่อนป่าสักฯ ในระหว่างวันที่ 8 – 14 ต.ค. 2565 รวมประมาณเกือบ 500 ล้าน ลบ.ม. และวันที่ 14 ต.ค. 65 คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะอยู่ที่ 1,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเกินความจุที่ระดับเก็บกักสูงสุด ที่ปริมาณ 960 ล้าน ลบ.ม.
ดังนั้น เพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสอดคล้องตามมติที่ประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง กรมชลประทาน จำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักฯจากเดิมอัตรา 830 ลบ.ม./วินาที เป็นอัตรา 900 ลบ.ม./วินาที
🚨โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่วันนี้ (8 ต.ค. 65) เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อน้ำจำนวนนี้ไหลลงไปรวมกับปริมาณน้ำจากคลองชัยนาท – ป่าสัก แล้วจะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี S.26 ท้ายเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยาในอัตราประมาณ 1,000 ลบ.ม./วินาที
🚨ส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ท้ายเขื่อนป่าสักฯ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ถึงเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร
🚨โดยปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มขึ้นจะส่งผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ระหว่างอัตรา 80 – 120 ลบ.ม./วินาที ลำเลียงน้ำลงสู่พื้นที่ตอนล่างตามแนวคลองเหนือใต้ เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยเร็วต่อไป