กรมประมงเตือน!ห้ามเพาะเลี้ยง-ซื้อ-ขาย-ครอบครอง“ปิรันยา”ปลาเพชฌฆาตสุดอันตราย

กรมประมงเตือน!! ผู้นิยมเลี้ยงปลาแปลก ปลาหายาก ห้ามเพาะเลี้ยง ซื้อ ขาย ครอบครอง “ปลาปิรันยา” ปลาต่างถิ่นสุดอันตรายอย่างเด็ดขาด  หวั่น..รุกรานทำลายระบบนิเวศ และเป็นอันตรายต่อประชาชนที่ใช้ประโยชน์ในแหล่งน้ำ หากฝ่าฝืน..มีความผิดตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษหนักจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีปล่อยลงในที่จับสัตว์น้ำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า “ปลาปิรันยา” เป็นปลาน้ำจืดอยู่ในวงศ์ Serrasalmidae  มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ พบมากในแม่น้ำอเมซอน ลักษณะรูปร่างและสีสันสวยงาม เกล็ดเป็นสีแดงอมชมพูแวววาวคล้ายกากเพชร โดยตัวโตเต็มวัยมีขนาดประมาณ 30 เซนติเมตรพบขนาดใหญ่ที่สุด 50 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 3.9 กิโลกรัม  มีฟันที่แหลมคมรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ และยังมีกล้ามเนื้อบริเวณกระพุ้งแก้มที่แข็งแรง มักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงมากกว่า 20 ตัว  กินปลาและสัตว์น้ำได้ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เป็นอาหาร โดยจะใช้วิธีล่าเหยื่อด้วยการพุ่งจู่โจมอย่างรุนแรงและรุมกันกัดแทะเหยื่อ ด้วยความรวดเร็ว จะมีความดุร้ายมากขึ้นเมื่อเวลาหิวจัด จนถูกขนานนามว่า”เพชฌฆาตแห่งลุ่มน้ำจืด” 

นอกจากนี้ยังสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อถึงฤดูสืบพันธุ์จะมีการสร้างรังและวางไข่ติดกับกอของพืชน้ำ โดยแม่ปลาปิรันยาบางชนิด สามารถวางไข่ได้ถึงครั้งละประมาณ 6,000 ตัว และจะมีอายุขัยยาวนานถึง 10 ปี

สำหรับประเทศไทย ได้มีประกาศห้ามมิให้มีไว้ครอบครอง หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด สำหรับปลาปิรันยาที่มีชีวิตในสกุล (Genus) Serrasalmus สกุล(Genus) Rooseveltiella และสกุล (Genus) Pygocentrus ทุกชนิดและทุกขนาด รวมทั้งไข่และน้ำเชื้อเนื่องจากถิ่นกำเนิดเดิมมีสภาพแวดล้อมไม่แตกต่างกับแหล่งน้ำธรรมชาติในประเทศไทยมากนัก 

DFAC49D6 8EC1 419C B19E 5A7DE888E209

หากหลุดรอดลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติอาจปรับตัวและอยู่อาศัยในแหล่งน้ำธรรมชาติของไทยได้ และจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างมาก เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำและสัตว์น้ำพื้นเมืองของไทยแล้วยังเป็นการคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจในระยะยาว รวมทั้งอาจเป็นอันตรายต่อประชาชนที่ลงไปใช้ประโยชน์ในแหล่งน้ำสาธารณะด้วย 

แต่ด้วยลวดลายที่สวยงามของปลาปิรันยา ทำให้พบการลักลอบนำเข้า และจำหน่ายในกลุ่มผู้นิยมเลี้ยงปลาแปลก และปลาหายาก  ซึ่งกรมประมงได้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการประมง 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 64 ในข้อหา ครอบครองสัตว์น้ำที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ หรือต่อสัตว์น้ำอื่น สิ่งแวดล้อมของสัตว์น้ำ ทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณสมบัติ มีโทษตามมาตรา 144 ผู้ใดฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีปล่อยปลาปิรันยาในที่จับสัตว์น้ำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  

B3E5CAD1 0670 4DEC 9946 32C0AAEE2A43

อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงอันตรายของปลาปิรันยา โดยหากพบเห็นหรือมีข้อมูลเกี่ยวกับการลักลอบเพาะเลี้ยง ซื้อ ขาย ครอบครอง สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ ได้ที่ กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมง โทร. 0 2579 9767 และ 0 2561 1418