วันที่ 3 ต.ค. 65 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยมี นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง รายงานสรุปการบริหารจัดการน้ำ ณ เขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตลอดในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทางตอนบนและตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขาไหลลงสู่เเม่น้ำสายหลัก (แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน) เพิ่มสูงขึ้น ก่อนจะไหลมารวมกับแม่น้ำสะเเกกรัง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่า ในระยะนี้จะยังคงมีฝนตกชุกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบัน (3 ต.ค. 65) ที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,775 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที
กรมชลประทาน จำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝน – น้ำท่า จึงได้พิจารณารับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตกและตะวันออกรวม 335 ลบ.ม./วินาที และควบคุมให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกินอัตรา 2,700 ลบ.ม./วินาที ตามประกาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 45/2565
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะใช้ระบบชลประทานทางฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เร่งระบายน้ำลงสู่ทะเล และฝั่งตะวันออกระบายลงสู่แม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางปะกง และคลองชายทะล ระบายลงสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด พร้อมเน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่รับช่วงต่อการระบายน้ำให้สอดคล้องกัน โดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นหลัก
นอกจากนี้ ยังได้ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ เข้าไปช่วยเสริมศักยภาพในการระบายน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด พร้อมกำชับให้ดำเนินการกำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำตลอดเส้นทางน้ำ เพื่อเปิดทางน้ำให้ไหลได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องด้วย
ด้าน พล.อ.ประวิตรฯ ได้มอบนโยบายให้กรมชลประทาน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและเร่งช่วยเหลือให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมถึงให้วางแผนการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าด้วย
นอกจากนี้ ยังให้พิจารณาร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในการวางแผนการปลูกพืชในพื้นที่ลุ่มต่ำที่ใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก เพื่อป้องกันความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร และเตรียมแผนการส่งน้ำเข้าทุ่ง เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ และเน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาด้านน้ำอย่างยั่งยืน และได้เร่งรัดให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน