รัฐบาลขับเคลื่อนการเกษตรสร้างมูลค่า พัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารไทย เข้าสู่มาตรฐานความปลอดภัย เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเข้าสู่ระบบมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งเกษตรอินทรีย์เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่ต้องเร่งดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศและสถานการณ์โลก ที่ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ล่าสุดรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทบทวนมาตรฐานสินค้าเกษตร (Good Agricultural Practices: GAP) พืชอาหาร และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้ครอบคลุมส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์พืชและแมลงที่บริโภคได้ รวมทั้งสอดคล้องกับมาตรฐานอาเซียน รวมถึงการตรวจรับรองแหล่งผลิตพืชตามมาตรฐาน GAP

1626057704 3688bd329417c623f058
เกษตรอินทรีย์

โดยในปี 2565 มีผู้ยื่นขอการรับรอง 84,098 แปลง เกษตรกร 59,040 ราย โดยได้รับการรับรองมาตรฐาน GAPแล้ว จำนวน 74,152 แปลง เกษตรกร 50,209 ราย พร้อมมีการจัดทำฐานข้อมูลด้านการเกษตรปลอดภัยร่วมกับสมาชิกที่ได้รับใบรับรองมาตรฐาน GAP ในปี 2565 สหกรณ์ 47 แห่ง เกษตรกร 1,126 ราย ใน 22 จังหวัด และส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) แล้ว 65,358 ไร่

นายอนุชา ย้ำว่า เพื่อให้สินค้าเกษตรเข้าถึงผู้บริโภคอย่างทั่วถึงและสะดวกมากขึ้น รวมถึงให้สามารถจำหน่ายและเพิ่มมูลค่าได้ในหลากหลายช่องทาง รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ได้มีการจัดหาตลาดเพื่อให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลไม้ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ควบคู่กับการจัดหาพื้นที่ให้เกษตรกรนำผลไม้ไปวางขายได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น ห้างท้องถิ่น สถานีจำหน่ายน้ำมัน รวมทั้งยังร่วมกับบริษัทผู้จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงรับซื้อสินค้าเกษตรในช่วงที่มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เพื่อบรรเทาปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำ

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ (สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา) ยังได้จัดทำฐานข้อมูลรวบรวมผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษาและเผยแพร่บนเว็บไซต์ thainvention.net เช่น สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมซอฟท์แวร์และระบบสมองกลฝังตัวและสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานทดแทนเพื่อการเกษตรด้วย

“ปัจจุบันตลาดมีความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เกิดกระแสความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพเพื่อหลีกเลี่ยงโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ โดยหันมาบริโภคสินค้าที่ปลอดภัยไม่มีสารเคมีปนเปื้อนจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่สอดคล้องต่อความต้องการบริโภค แม้เกษตรกรส่วนใหญ่มีความเคยชินกับการผลิตสินค้าเกษตรแบบใช้สารเคมี และปุ๋ยเคมีทั่วไป ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ในการนำพาเกษตรกรไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีการส่งเสริมการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ให้มีประสิทธิภาพตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

โดยเฉพาะการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้ และทักษะในการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้มีคุณภาพ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน เพื่อขับเคลื่อนการเกษตรสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน เช่น การดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรตามมาตรฐาน GAP ในปี 2565 ทั้งการอบรมเกษตรกรเข้าสู่มาตรฐาน GAP จำนวน 15,000 ราย การติดตามให้คำปรึกษาและตรวจสอบประเมินแปลงเบื้องต้น ตลอดจนการสนับสนุนการจัดการและพัฒนาผลิตผลสินค้าเกษตร GAP ในขั้นต้น เป็นต้น นายอนุชา กล่าว.