กระทรวงเกษตรฯ…ต้อนรับพี่น้องชาวประมง หารือ 3 แนวทางออก “คุ้มครองสัตว์น้ำเศรษฐกิจขนาดเล็ก”
ตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
วันที่ 27 กันยายน 2565 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง และนายสุธัญญ์ ฤทธิขาบ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน กระทรวงเกษตรฯ ต้อนรับตัวแทนกลุ่มสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย นำโดย นายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ที่เดินทางมาพบเพื่อทวงสัญญาข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งออกประกาศกำหนดขนาดสัตว์น้ำที่ห้ามมิให้จับหรือนำขึ้นเรือประมง ตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 57 ตามที่กลุ่มฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องไว้เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง ได้รับมอบหมายจากนายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยหลังการหารือกับพี่น้องชาวประมง ในประเด็นข้อเรียกร้องของสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ที่ให้ภาครัฐเร่งรัดกระบวนการคุ้มครองสัตว์น้ำเศรษฐกิจขนาดเล็ก ตามมาตรา 57 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อแก้วิกฤตทรัพยากรประมง ว่ากรมประมง ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลภารกิจในการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืน ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ และได้ดำเนินการหาแนวทางในการจัดการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ 2563 กรมประมงได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาการกำหนดมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก เพื่อกำหนดชนิดและขนาดที่เหมาะสมของสัตว์น้ำเศรษฐกิจ พร้อมทั้งเสนอหลักเกณฑ์ในการกำหนดร้อยละของสัตว์น้ำขนาดเล็กที่จะใช้กำหนดมาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการ ตามมาตรา 57 และ 71(2) สำหรับเป็นแนวทางในการประกาศกำหนดการจับ หรือการนำสัตว์น้ำขนาดเล็กขึ้นเรือประมง
ที่ผ่านมาในช่วงปี 2564 – 2565 กรมประมงนำข้อมูลจากการศึกษาของคณะทำงานไปประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องมาโดยตลอด และนำมาเสนอคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพาณิชย์และการประมงนอกน่านน้ำไทย คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพื้นบ้าน ที่ประชุมประกอบด้วยผู้แทนจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมการประมงระดับท้องถิ่นต่าง ๆ อาจารย์คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ของกรมประมง แต่ยังไม่ได้ข้อยุติที่เหมาะสมที่จะนำไปปฏิบัติได้จริง หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน – 8 กรกฎาคม 2565 กรมประมงจึงได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดมาตราการควบคุมการจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก ครอบคลุมพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล
โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 1,000 คน ทั้งจากประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน ผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ข้าราชการ และสมาคมประมงที่เกี่ยวข้อง โดยมีประเด็นพิจารณา คือ
- กำหนดชนิดสัตว์น้ำเพื่อนำร่องกำหนดมาตรการ ได้แก่ ปลาทู- ลัง และปูม้า
- กำหนดความยาวสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ห้ามจับปลาทู- ลัง เท่ากับ 12 เซนติเมตร ปูม้า 6 เซนติเมตร
- สัดส่วนของสัตว์น้ำขนาดเล็กจับได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของปริมาณสัตว์น้ำทั้งหมด
โดยที่ประชุมเห็นว่ายังขาดความเหมาะสมในการออกมาตรการตามมาตรา 57 และควรศึกษาชนิดสัตว์น้ำให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อเกิดความชัดเจนก่อน และควรกำหนดขนาดสัตว์น้ำและไม่ขัดต่อหลักวิชาการ ต่อมาครั้งสุดท้ายกรมประมงได้เสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำขนาดเล็กตามมาตรา 57 ต่อที่ประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 โดยมีการนำเสนอข้อมูล ทั้งเรื่องของความเป็นมาในการดำเนินตามมาตรา 57 การรับฟังความคิดเห็นมาตรการในการจัดการทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับสัตว์น้ำขนาดเล็กที่บังคับใช้ในปัจจุบัน เช่น การประกาศปิดอ่าว ในช่วงฤดูกาลสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัววัยอ่อน การกำหนดห้ามมิให้อวนล้อมจับที่มีขนาดตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรทำการประมงในเวลากลางคืน การกำหนดขนาดตาอวนก้นถุงของเรืออวนลากไม่น้อยกว่า 4 เซนติเมตร การกำหนดขนาดตาอวนครอบหมึกไม่น้อยกว่า 3.2 เซนติเมตร การกำหนดขนาดตาอวนครอบปลากะตักไม่น้อยกว่า 0.6 เซนติเมตร และการกำหนดตาอวนของลอบปูไม่น้อยกว่า 2.5 นิ้ว เป็นต้น
บทกำหนดโทษเมื่อมีการกำหนดมาตรการตามมาตรา 57 ผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 139 มีโทษปรับตามขนาดเรือ หรือ 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า มีโทษปรับต่ำสุด 10,000 บาท กรณีเรือพื้นบ้านขนาดเล็ก และสูงสุดถึง 30 ล้านบาทกรณีเรือตั้งแต่ 150 ตันขึ้นไป และถือว่าเป็นการทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง ที่อาจถูกคำสั่งทางปกครองให้เพิกถอนใบอนุญาตและมีผลถึงการขอใบอนุญาตในรอบปีการประมงถัดไป
นอกจากนี้ ยังมีผลการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในปัจจุบัน ซึ่งพบว่าการลงแรงประมงลดลงและอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับการลงแรงประมงที่ให้ผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน (FMSY) นั่นคือไม่อยู่ในสภาวะ Overfishing และค่าประมาณการจับสัตว์น้ำต่อหน่วยการลงแรงประมง (CPUE) ซึ่งเป็นค่าดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ พบว่าทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน สัตว์น้ำทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสัตว์น้ำหน้าดิน กลุ่มปลาผิวน้ำ และปลากะตัก มีค่า CPUE เพิ่มขึ้น ซี่งจากการรับฟังความคิดเห็นจากชาวประมงและผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งความคิดเห็นของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพาณิชย์และการประมงนอกน่านน้ำไทย ร่วมกับคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพื้นบ้าน ตลอดจนผลการวิเคราะห์ทางวิชาการและมาตรการที่กรมประมงจะดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรประมงทะเล ประกอบกับข้อจำกัดในการบังคับใช้ และบทลงโทษตามกฎหมายที่มีความรุนแรง กรมประมงจึงเห็นว่า ขณะนี้มีมาตรการอื่นที่จะควบคุม คุ้มครองสัตว์น้ำขนาดเล็ก ประกอบกับมาตรการที่จะนำมาใช้ตามข้อเสนอในอนาคตเหมาะสมตามความจำเป็น
โดยกรมประมงได้นำเสนอมาตรการที่จะดำเนินเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรประมงต่อไป 3 แนวทาง ดังนี้
1) โครงการนำเรือออกนอกระบบ กลุ่มเรือ 1,776 ลำ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรประมงยั่งยืน
2) การปรับปรุงประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เพื่อคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์
3) การปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการกำหนดขนาดตาอวน เช่น การกำหนดขนาดตาอวนทั้งผืนให้มีขนาดตาอวนไม่น้อยกว่า 4 เซนติเมตร เพื่อเป็นการลดการจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก เป็นต้น
มาตรการดังกล่าวเหล่านี้จะทำให้สามารถลดการจับสัตว์น้ำขนาดเล็กได้ในภาพรวมต่อไป
ซึ่งจากการหารือตัวแทนชาวประมง ยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมให้คุ้มครองสัตว์น้ำเศรษฐกิจขนาดเล็ก โดยขอขยายพื้นที่คุ้มครองสัตว์น้ำเศรษฐกิจขนาดเล็กเพี่มขึ้น และขอขยายระยะเวลาฤดูปิดอ่าวฝั่งอ่าวไทย เพิ่มขึ้นเป็น 60 วัน จึงจะให้มีการทำการประมงได้ โดยรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมประมงรับไปศึกษาข้อมูลและพิจารณาร่วมกับชาวประมงเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป