วันที่ 3 พ.ค.65 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมกับ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา ประชุมร่วมกับ รศ.ดร.ธัญญะ เกียรติวัฒน์ ผู้จัดการโครงการ ADAP-T (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) รศ.ดร.มาซาชิ คิกุจิ รองที่ปรึกษาโครงการ ADAP-T ฝ่ายญี่ปุ่น (มหาวิทยาลัยโตเกียว) ศ.ดร.ไทจิ เทบาคาริ นักวิจัยโครงการ ADAP-T ฝ่ายญี่ปุ่น (มหาวิทยาลัยชูโอ) นายยาซึยูกิ เอนโดะ ผู้แทนองค์การไจก้า (องค์การไจก้าแห่งประเทศไทย) และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อหารือความร่วมมือในอนาคตตามโครงการ Advancing Co-Design of Integrated Strategics with Adaptation to Climate Change in Thailand (ADAP-T) ณ ห้องประชุมกรม ชั้น 3 กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร
การหารือในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางในอนาคตเกี่ยวกับการวิจัยด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ Advancing co-Design of Integrated Strategies with AdaPtation to Climate Change in Thailand หรือ ADAP-T ซึ่งดำเนินงานวิจัยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 6 ปี
การดำเนินการด้านเทคโนโลยีและมาตรการต่าง ๆ ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติได้ ตลอดจนช่วยสนับสนุนแผนปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plans : NAPS) ของประเทศไทย
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรมชลประทานและเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องปริมาณน้ำต้นทุน “การบริหารจัดการน้ำ” ตลอดจนแนวทางวางแผนป้องกันภัย และกำหนดแนวทางแก้ไข เป็นต้น
จึงเห็นควรร่วมกันดำเนินการวิจัยอย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคตตามวัตถุประสงค์โครงการ เพื่อศึกษาวิจัยหาเทคโนโลยีและมาตรการที่เหมาะสมต่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันจะสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย สนับสนุนการจัดทำและทบทวน แผนปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ สนับสนุนแผนปฏิบัติการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และรับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำหรับโครงการ Advancing co-Design of Integrated Strategics with Adaptation to Climate Change in Thailand (ADAP-T) หรือ โครงการบูรณาการความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระดับสูง เพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยเป็นโครงการวิจัยเกิดจากแนวคิดในการพัฒนาแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้มีความยืดหยุ่นและยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับมหาวิทยาลัยโตเกียว ภายใต้การสนับสนุนจาก JICA และ JST ซึ่งมีแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยในมหาวิทยาลัยกับนักวิชาการของหน่วยงานภาครัฐและที่ปรึกษาจากญี่ปุ่น
รวมทั้งนักวิชาการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้ให้ข้อเสนอแนะต่อแนวทางการศึกษาวิจัย ส่วนนักวิจัยในมหาวิทยาลัยจะเป็นหลักในการดำเนินการ ด้วยการปรึกษาหารือกับหน่วยงานภาครัฐและที่ปรึกษาจากประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะ ๆ เมื่อได้ผลการวิจัยในแต่ละขั้นตอน นักวิจัยจะเป็นผู้นำเสนอต่อนักวิชาการและที่ปรึกษาจากญี่ปุ่นเพื่อประเมินผลในแง่การนำไปใช้ประโยชน์ว่าจะสามารถใช้งานได้จริงหรือไม่ พร้อมกับให้คำแนะนำต่อการปรับปรุงผลงานให้ดียิ่งขึ้น
โดยที่ปรึกษาจากญี่ปุ่นจะทำหน้าที่หลักในการฝึกอบรมนักวิจัยและนักวิชาการของไทย เพื่อให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ได้ศึกษาวิจัยหรือใช้งานทั้งในประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย