ปลัด มท.ไขข้อสงสัย แนวทางปฏิบัติการขออนุญาตหรือขอความเห็นชอบเกี่ยวกับการขุดลอกการใช้แหล่งน้ำสาธารณะ และการใช้ที่สาธารณประโยชน์ ตามโครงการพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงกรณี การหารือแนวทางปฏิบัติการขออนุญาตหรือขอความเห็นชอบเกี่ยวกับการขุดลอก การใช้แหล่งน้ำสาธารณะและการใช้ที่สาธารณประโยชน์ ตามโครงการพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยสั่งการให้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (กองกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น) แจ้งแนวทางดังกล่าวให้ทุกจังหวัดถือเป็นแนวทางปฏิบัติด้วยแล้ว เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงรายได้มีหนังสือขอหารือการดำเนินการโครงการพัฒนาหรือจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับการขุดลอกหรือการปรับปรุงพัฒนาที่ต้องกระทำลงในพื้นที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ประเภทแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ อันได้แก่ ทางน้ำ ลำราง ห้วย หนอง คลอง บึง แหล่งน้ำอื่น ๆที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่ไม่รวมถึงน่านน้ำตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 ที่ยังมีแนวทางปฏิบัติที่เข้าใจคลาดเคลื่อนต้องมาขออนุญาตหรือขอความเห็นชอบเกี่ยวกับการขุดลอกการใช้ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการเกี่ยวกับการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณประโยขน์ที่ตื้นเขิน พ.ศ. 2547 และมาตรา 122 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 กับผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งที่ไม่เข้าลักษณะที่จะต้องขออนุญาตหรือขอความเห็นชอบตามกฎหมายหรือระเบียบที่ออกตามประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับหน่วยงานตรวจสอบได้ทักท้วงการขออนุญาตใช้และขุดลอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงมหาดไทยได้มีความเห็น 4 ประเด็น โดยเเจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายทราบเเล้วเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ประเด็นที่ 1 กรณีกิจกรรมตามโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการปรับปรุงหรือพัฒนาที่ดินโดยไม่กระทบต่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันของราษฎรและราษฎรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณประโยชน์ได้ดีกว่าเดิมซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของอำเภอหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การปรับปรุงภูมิทัศน์ การขุดลอกแหล่งน้ำเดิมที่ตื้นเขิน การปรับปรุงถนนสาธารณะเดิมให้ใช้สัญจรได้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น การดำเนินการตามโครงการดังกล่าว ไม่ต้องขออนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน
ทั้งนี้ เป็นไปตามหนังสือกรมที่ดิน ด่วนที่สุด ที่ มท 0511.3/ว 29466 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2558 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจการดำเนินโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ประเด็นต่อมา การดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ที่ตื้นเขิน ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยอำเภอ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากไม่ประสงค์จะนำกรวด หิน ดิน ทราย ที่ได้จากการขุดลอกไปเป็นประโยชน์ของทางราชการหรือตีราคาเป็นค่าจ้างเอกชน และต้องเป็นกรณีที่ไม่นำวัสดุที่ได้จากการขุดลอกออกนอกพื้นที่ การขุดลอกไม่ต้องเสนอขอความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัด ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการเกี่ยวกับการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ที่ตื้นเขิน พ.ศ. 2547 ข้อ6 ซึ่งกำหนดให้ นายอำเภอหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประสงค์จะนำกรวด หิน ดิน ทราย ที่ได้จากการขุดลอกไปเป็นประโยชน์ของทางราชการหรือตีราคาเป็นค่าจ้างเอกชนให้เสนอขอความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัด
ดังนั้น เมื่อขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ที่ตื้นเขิน ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยอำเภอหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากไม่ประสงค์จะนำกรวด หิน ดิน ทราย ที่ได้จากการขุดลอกไปเป็นประโยชน์ของทางราชการ หรือ ตีราคาเป็นค่าจ้างเอกชน ก็ไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัด
ทั้งนี้ เป็นไปตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0511.3/ว 7575 ลงวันที่ 30 ธันวาคม2564 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการเกี่ยวกับการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ที่ตื้นเขิน พ.ศ. 2547
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 3 การดำเนินการตามโครงการพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อปรับปรุงพัฒนาแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ให้ดีขึ้นโดยยังคงสภาพการใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชนไว้คงเดิม ไม่ทำให้เสื่อมประโยชน์สาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น การขุดลอกแหล่งน้ำเดิมที่ตื้นเขินเป็นการทำหน้าที่ดูแลรักษา และคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน กรณีนี้มีลักษณะเดียวกันกับกรณีตามประเด็นที่ 1 จึงไม่ต้องขออนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นไปตามหนังสือกรมที่ดิน ด่วนที่สุด ที่มท 0511.3/ว24466 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2558 และประเด็นสุดท้าย การทำฝ่ายน้ำล้น การเจาะสะดือบ่อการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง การสร้างสะพานข้ามคลองส่งน้ำ ลำเหมือง คสล. จะต้องพิจารณาจากประวัติความเป็นมาของที่ดินสาธารณประโยชน์ใช้ประโยชน์ร่วมกันว่ามีมาอย่างไร และวัตถุประสงค์ของการทำฝ่ายน้ำล้น การเจาะสะดือบ่อ การสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง การสร้างสะพานข้ามคลองส่งน้ำ ลำเหมือง คอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) ซึ่งหากสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว มิได้ทำขึ้นเพื่อเปลี่ยนลักษณะการใช้ประโยชน์ร่วมกันและไม่กระทบต่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชน แต่เป็นการทำให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามวัตถุประสงค์เดิมและใช้ประโยชน์ร่วมกันในที่ดินได้ดียิ่งขึ้นและเป็นการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์อื่น ตามมาตรา 122 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 12)พ.ศ. 2552 จึงมิใช่การใช้หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบ จากผู้ว่าราชการจังหวัดและต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดินตามมาตรา 122 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2552
แต่หากสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ได้ทำขึ้นเพื่อเปลี่ยนลักษณะการใช้ประโยชน์ร่วมกันและกระทบต่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชนโดยมิได้ทำเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามวัตถุประสงค์เดิม หรือได้ทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่สถานะของที่ดินยังคงเป็นประเภทพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันเช่นเดิมการทำฝ่ายน้ำล้น การเจาะสะดือบ่อ การสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง การสร้างสะพานข้ามคลองส่งน้ำ ลำเหมือง คสล. ต้องได้รับความเห็นชอบ จากผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้นายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ที่ ดินสาธารณประโยชน์สำหรับก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ตามมาตรา 122 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่12) พ.ศ. 2552 และต้องดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเปลี่ยนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันจากการใช้เพื่อสาธารณประโยชน์อย่างหนึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่ง พ.ศ. 2543 ทั้งนี้ เป็นไปตามหนังสือกรมที่ดิน ด่วนที่สุด ที่ มท 0511.3/ว 29466 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2558
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า แนวทางปฏิบัติการขออนุญาตหรือขอความเห็นชอบเกี่ยวกับการขุดลอก การใช้แหล่งน้ำสาธารณะและการใช้ที่สาธารณประโยชน์ ตามโครงการพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามมาตรา 122 วรรคสอง เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมายาวนานในทุกพื้นที่ ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการปกครองและกรมที่ดิน ได้มีเเนวทางออกที่เป็นข้อยุติแล้ว ซึ่งการดำเนินการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การปรับปรุงหรือพัฒนาที่ดินโดยไม่กระทบต่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันของราษฎร และราษฎรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณประโยชน์ได้ดีกว่าเดิม การขุดลอกแหล่งน้ำเดิมที่ตื้นเขินเป็นการทำหน้าที่ดูแลรักษา และคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ หรือ การทำฝ่ายน้ำลันการเจาะสะดือบ่อ การสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง การสร้างสะพานข้ามคลองส่งน้ำ ลำเหมือง คสล.หลังจากนี้ จะได้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้ช่วยลดข้อจำกัดในการให้บริการแก่พี่น้องประชาชน
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้พี่น้องประชาชน ด้วย Passion และอุดมการณ์ Change for Good เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต และพัฒนาคนให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน หากพี่น้องประชาชนมีเรื่องเดือดร้อนใจ หรือทุกข์ใจ ต้องการขอคำปรึกษา หรือ ต้องการจะร้องเรียนปัญหาต่าง ๆ สามารถเเจ้งข้อมูล ร้องเรียน หรือขอคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย โทรฟรีที่ เบอร์ 1567 หรือ หากมีข้อสงสัยด้านที่ดิน ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังสำนักงานที่ดินโทรศัพท์สอบถามข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ ศูนย์ดำรงธรรมกรมที่ดิน DOL Call Center ที่หมายเลข 0-2141-5555 ให้บริการจำนวน 10 คู่สาย โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นหัวหน้าชุดในการตอบปัญหา ตลอด 24 ชั่วโมง