ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 21 – 25 ก.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวตอนบนและประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลให้ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
รมว.เกษตรฯ จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ นำการคาดการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา มาวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พิจารณาปรับการระบายเพื่อรองรับปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น จัดเจ้าหน้าที่ พร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดัน ประจำจุดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง ให้สามารถพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มกำลัง
โดยได้เน้นย้ำให้มีการตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทานและพนังกันน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขอความร่วมมือหน่วยงานท้องถิ่นในการช่วยกันจำกัดผักตบชวา สิ่งกีดขวางทางน้ำ ในลำคลองสาขาต่าง ๆ ไม่ให้ไหลลงมาทางน้ำสายหลัก ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (22 ก.ย.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 53,203 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 70 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 25,579 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 15,420 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 9,451 ล้าน ลบ.ม.
อธิบดีกรมชลประทาน ยังเปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาวันนี้ (23 กันยายน 2565) ว่า เมื่อเวลา 11.00 น. ที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,028 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2.70 เมตร มีแนวโน้มลดลง ก่อนปริมาณน้ำนี้จะไหลไปรวมกับน้ำที่มาจากเเเม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขา ไหลลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่สถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ในอัตราประมาณ 1,989 ลบ.ม./วินาที
โดยในวันพรุ่งนี้ (24 กันยายน 2565) จะควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 2,200 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร ในช่วงวันที่ 25 – 27 กันยายน 2565 บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ได้แก่ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา อ.เสนา อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) อ.อินทร์บุรี อ.เมืองสิงห์บุรี อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี และ อ.ไชโย จ.อ่างทอง
ส่วนที่สถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 2,499 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน ได้ใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เร่งระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยในช่วงน้ำทะเลลงอย่างเต็มศักยภาพ