วันที่ 23 กันยายน 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันภาคการเกษตรและสินค้าท้องถิ่น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เร่งผลักดันการขึ้นทะเบียนสินค้าที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geograpgical IDentification: GI) ซึ่งในประเทศไทยมีจำนวนมาก บ่งบอกถึงความพิเศษตามธรรมชาติและภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น การขึ้นทะเบียน GI จะเป็นการป้องกันการแอบอ้าง และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าได้อย่างมาก โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ
ทั้งนี้ในปี 2565 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าการขึ้นทะเบียนไว้ประมาณ 18 รายการ สามรายการล่าสุดคือ ผ้าไหมคึมมะอุ จ.นครราชสีมา กล้วยหอมทองละแม จ.ชุมพร และมันแกวบรบือ จ.มหาสารคาม โดยขณะนี้ มีสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI แล้ว 182 รายการ เป็นของไทย 164 รายการ และต่างประเทศ 18 รายการ
นอกจากนี้ นายจุรินทร์ ยังได้ให้แนวทางการต่อยอดเพื่อนำไปสู่การเพิ่มรายได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทางกรมฯ จะเข้าไปช่วยยกระดับสินค้า GI ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ด้วยการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างความเป็นสินค้าพรีเมียม จัดงานส่งเสริมการขายทั้งในและต่างประเทศ เช่น การจัดงาน GI Fest , GI Pavilion ในงานแสดงสินค้า THAIFEX 2022 การจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่านเฟซบุ๊ก GI Thailand และ Lazada รวมถึง รวมทั้งจะเร่งโปรโมตสินค้า GI ให้เป็นที่รู้จักทั้งในไทยและต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยการขึ้นทะเบียนสินค้า GI สามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดกว่า สี่หมื่นล้านบาทต่อปี
นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญายังได้ดำเนินการขอขึ้นทะเบียนในต่างประเทศด้วย ขณะนี้ ยื่นขึ้นทะเบียน GI ใน 5 ประเทศ จำนวน 8 รายการ แล้ว ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงที่สหภาพยุโรป, เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน มะขามหวานเพชรบูรณ์ ที่เวียดนาม, กาแฟดอยตุง ที่กัมพูชา, ผ้าไหมยกดอกลำพูน ที่อินโดนีเซีย และที่อินเดีย ยังมีที่อยู่ระหว่างการพิจารณารับจดทะเบียน อีก 10 สินค้า เช่น กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง สับปะรดห้วยมุ่น ที่ญี่ปุ่น ส่วนที่อยู่ระหว่าง พิจารณาจัดทำคำขอ คือ ไวน์เขาใหญ่ ที่สหภาพยุโรป
“สินค้า GI เป็นสินค้าที่เชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติและภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น มีเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ การยื่นขอขึ้นทะเบียนจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อปกป้องและคุ้มครองชื่อสินค้าให้ยังคงเป็นสิทธิของชุมชนเดิม ไม่ให้ใครแอบอ้างเอาชื่อสินค้าไปใช้ประชาสัมพันธ์ อีกทั้งยังช่วยทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักและเพิ่มมูลค่าด้วย” นางสาวรัชดา กล่าว
สำหรับไวน์เขาใหญ่ มีจุดเริ่มต้นจากการปลูกองุ่น สำหรับรับประทานในพื้นที่ อ. ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2520 หลังจากนั้นในพื้นที่ อำเภอปากน้ำช่อง ได้มีการปลูกองุ่นสายพันธุ์ vitis vinifera แปรรูปเป็นไวน์ เพื่อเพิ่มมูลค่า มีการสืบสานภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้สามารถปลูกองุ่นและทำไวน์ที่มีคุณภาพดี มีลักษณะเฉพาะจนเป็นสินค้า ที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ และเป็นที่ยอมรับของวงการไวน์ระดับนานาชาติ