กรมชลประทาน ปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา รองรับปริมาณน้ำจากพื้นที่ตอนบน ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 21 – 26 กันยายน 2565 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวตอนบนและประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลทำให้ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั้น
สถานการณ์น้ำปัจจุบัน (22 กันยายน 2565) เวลา 18.00 น. ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่าน 2,058 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 2.63 เมตร แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ที่สถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท 1,989 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน มีความจำเป็นปรับเพิ่มการระบายน้ำ จากเดิม 2,000 ลบ.ม./วินาที เป็นไม่เกิน 2,200 ลบ.ม./วินาที ในลักษณะทยอยปรับการระบายแบบขั้นบันได เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2565 อาจจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้นในบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ดังนี้
📍คลองโผงเผง จ.อ่างทอง
📍 คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
📍ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย)
📍 วัดสิงห์ อ.อินทร์บุรี และ อ.เมือง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
📍 วัดไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง
โดยอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน โดยระดับน้ำบริเวณดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร ในช่วงวันที่ 25 – 27 กันยายน 2565
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนที่ตกลงมา และควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร พร้อมทั้งได้ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด