วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน 2565 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินงานวันลองกอง ครั้งที่ 45 ประจำปี 2565 ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดนราธิวาส โดยนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์สามารถ อ่อนสองชั้น ปศุสัตว์จังหวัดนราธิวาส, นายอำพล วริทธิธรรม ผู้อำนวยการกองผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์, และเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ
ในการนี้ กรมปศุสัตว์นำเสนอผลการดำเนินงานเรื่อง การพัฒนาการแปรรูปและการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ไก่สับเบตงพิกุลทอง สนองพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีพระกระแสรับสั่ง ให้มีการส่งเสริมและพัฒนาพันธุ์ไก่เบตงให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น
ไก่เบตงพิกุลทองมีลักษณะเด่น คือ ขนสีเหลืองทอง หงอนสีแดงสด บั้นท้ายตัด คอและขาแข็งแรงเลี้ยงในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นแหล่งที่เปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ไก่เบตงพิกุลทองอายุ 5-6 เดือน นำมาทำเป็นเมนูไก่สับ หนังมีสีเหลือง เนื้อไก่นุ่ม มีกลิ่นหอม และที่สำคัญคือหนังกรุบกรอบ มีน้ำซีอิ๊วที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะพิเศษตามสูตรเฉพาะของไก่เบตงพิกุลทอง
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ มีการพัฒนาการแปรรูปและการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ไก่สับเบตงพิกุลทอง ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน (OTOP) ประเภทผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ประจำปี 2565 โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกรในด้านการแปรรูป และบรรจุภัณฑ์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตรงต่อความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบันมีการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพด้านการตลาด ให้เกษตรกรสามารถส่งผลิตภัณฑ์ไก่สับพิกุลทองจากนราธิวาสสู่ตลาดคนเมือง ตลอดจนลูกค้าทั่วประเทศสามารถสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ส่งตรงจากนราธิวาส สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร กรมปศุสัตว์พร้อมผลักดันผลิตภัณฑ์ไก่สับเบตงพิกุลทองไปสู่สินค้า GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คือ เครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้นๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าวเป็นผลมาจากความแตกต่างของสภาพภูมิประเทศและวัฒนธรรม
ซึ่งในการปฏิบัติงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาและโครงการพระราชดำริ เป็นการน้อมนำศาสตร์พระราชาไปสู่การปฏิบัติ และประยุกต์ให้สอดคล้องเหมาะสมกับชุมชนและพื้นที่ ช่วยให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์มากขึ้น บนพื้นฐานทรัพยากรของท้องถิ่นนั้นๆ กรมปศุสัตว์จะมุ่งสร้างอาชีพ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ทำให้ชุมชนยั่งยืน กรมปศุสัตว์จะพัฒนางานด้านปศุสัตว์ให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรยิ่งขึ้น และภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนองพระราชดำริต่อไป