สภาเกษตรกรแห่งชาติ ชื่อนี้สำคัญยิ่งกับเกษตรกรแม้ที่ผ่านมาบทบาทของสภาเกษตรกรแห่งชาติที่เปรียบเสมือนตัวแทนเกษตรกร ตัวแทนภาคการเกษตรจะขับเคลื่อนงานและสร้างการรับรู้ไปสู่เกษตรกรน้อยมาก น้อยจนเกษตรกรบางคนไม่ทราบ มีสภาเกษตรกร มีตัวแทนเกษตรกรแบบนี้ด้วยหรือ
เรามาดูที่มาที่ไปของสภาเกษตรกรแห่งชาติกันสักนิด ว่ามีความเป็นมาอย่างไร
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิต การแปรรูปและการตลาด ส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนสูงสุด รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร ในรูปของสภาเกษตรกร จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนที่ 71 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2553 เป็นต้นมา
จากวันนั้น..ถึงวันนี้ เรามีสภาเกษตรกร 1 ชุด ผ่านการเลือกตั้งมาหนึ่งครั้ง มีประธานสภาเกษตรกร มีสภาเกษตรกรแห่งชาติ
สภาเกษตรกรชุดปัจจุบันหมดวาระไปตั้งแต่ปี 2559 แต่เนื่องด้วยคสช.ยึดอำนาจการปกครอง ไม่มีการเลือกตั้งตัวแทนเกษตรกร สภาเกษตรกรฯ ต้องรักษาการมายาวนานถึงวันนี้ รวมๆแล้วเฉพาะรักษาการ 6 ปี
สภาเกษตรกรแห่งชาติมีโครงสร้างประกอบด้วย
1.ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดทุกจังหวัด รวม 77 คน
2.ตัวแทนองค์กรด้านพืช ด้านสัตว์ ด้านประมง และด้านเกษตรกรรมอื่น ๆ รวม 16 คน คัดเลือกโดยสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ
3. ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพืช สัตว์ และประมง อย่างน้อยด้านละ 1 คน รวม 7 คน คัดเลือกโดยสมาชิกสภา
สภาเกษตรกรแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
1.เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดนโยบายการส่งเสริม และการพัฒนาความเข้มแข็งแก่เกษตรกร และองค์กรเกษตรกร ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง การผลิต การแปรรูป การตลาด และการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
2.เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดนโยบาย และแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ระบบวนเกษตร ระบบเกษตรธรรมชาติ ระบบไร่นาสวนผสม ระบบเกษตรอินทรีย์ และเกษตรกรรมรูปแบบอื่น
3.ให้คำปรึกษาและข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร การพัฒนาเกษตรกรรมรวมทั้งการอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4.เสนอแผนแม่บทต่อคณะรัฐมนตรี
5.เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดแนวทางการส่งเสริม และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านพันธุธรรมพืช และสัตว์ท้องถิ่น ผลผลิตทางเกษตรกรรม และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปผลผลิตทางเกษตรกรรม
6.เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดแนวทางการประกันความเสี่ยงของราคา และผลผลิตทางเกษตรกรรมรวมทั้งการกำหนดสวัสดิการให้แก่เกษตรกร
7.เสริมสร้างความร่วมมือ และประสานงานกับภาครัฐ และเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาเกษตรกรรม
8.พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกร และองค์กรเกษตรกร
9.ให้ความเห็นต่อนโยบาย กฎหมาย หรือข้อตกลงที่เกี่ยวข้อง และมีผลกระทบต่อเกษตรกร
10.ให้คำปรึกษาและข้อแนะนำแก่เกษตรกร องค์กรเกษตรกร และตามที่สภาเกษตรกรจังหวัดเสนอ
11.แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือที่ปรึกษาตามความจำเป็น
12.ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสภาเกษตรกรแห่งชาติ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวที่จะจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ครั้งแรกในรอบ 6 ปี โดยสำนักงบประมาณให้ใช้งบประมาณปี 2566 วงเงิน 554 ล้านบาท มีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้ง
ปัจจุบันผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 17.06 ล้านคน แบ่งเป็นภาคกลางเกษตรกรมีสิทธิเลือกตั้ง 2.16 ล้านคน ภาคเหนือ 3.62 ล้านคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8.96 ล้านคน และภาคใต้ 2.31 ล้านคน ที่สำคัญส่วนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ต้องเป็นเกษตรกรที่มีสมุดทะเบียนเกษตรกร (สีเขียว) ที่ขึ้นทะเบียนกับเกษตรอำเภอ
มาถึงคุณสมบัติสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่ตํ่ากว่า 25 ปีบริบูรณ์ เป็นเกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิกขององค์กรเกษตรกรมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการ ที่ปรึกษา หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง ไม่เป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้าง ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
ไม่เป็นพระภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ไม่เป็นบุคคลซึ่งทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนไล่ออก ปลดออก ให้ออก หรือเลิกจ้างเพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไม่เคยจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่ได้พ้นโทษดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเป็นโทษสำหรับความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
ใครที่คุณสมบัติครบ เตรียมตัวให้พร้อมเพราะข่าวล่าสุดปลายปีนี้จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรการเลือกตั้งจะดำเนินการในระดับอำเภอและให้ตัวแทนแต่ละอำเภอไปโหวตเลือกตัวแทนจังหวัด ได้ตัวแทนระดับจังหวัดเข้าสู่สภาเกษตรกรแห่งชาติ และคัดเลือกประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติในลำดับสุดท้ายต่อไป