เมื่อแมลงเป็นแหล่งอาหารในโลกของอนาคต และ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดการณ์ว่า ภายใน 15 ปีข้างหน้า ตลาดแมลงรับประทานได้ทั่วโลกมีอัตราขยายตัว 23.8% และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การส่งออกแมลงจึงเป็นโอกาสและความท้าทายของเกษตรกร ผู้เลี้ยงแมลงกินได้ และ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแปรรูป ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ระบุว่า “จิ้งหรีด” เป็น แมลงเศรษฐกิจสร้างรายได้แก่ประเทศและเกษตรกรของไทย
ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า การเลี้ยงจิ้งหรีดหรือแมลงเศรษฐกิจในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรในการประกอบอาชีพ แมลงเศรษฐกิจเป็นทางเลือกในเขตปฏิรูปที่ดิน
ภายใต้แนวคิด ‘แผ่นดินทองคำ เกษตรกรรมยกระดับคุณภาพชีวิต : ALRO Next Step’ เพื่อเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้และผลการดำเนินงานการปฏิรูปที่ดิน โดยเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3S คือSustainability การบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรเพื่อการผลิตที่ยั่งยืน Security พื้นที่ผลิตอาหารและสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม แสดงถึงความมั่นคงในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินใน 4 มิติ ได้แก่
1) ความมั่นคงด้านรายได้
2) ความมั่นคงด้านอาหาร
3) ความมั่นคงด้านสังคมเกษตร
4) ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม Safety
กระบวนการรับรองมาตรฐานการผลิตที่ปลอดภัยในเขตปฏิรูปที่ดิน เป็นแนวคิดที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตามภารกิจของ ส.ป.ก. ดังนั้น การทำงานภายใต้ ส.ป.ก. แผ่นดินทองคำ เป็นการตอกย้ำการทำงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ตามพันธกิจ”
สำหรับการสำรวจข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2564 โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) พบว่า กลุ่มแปลงใหญ่ที่เลี้ยงจิ้งหรีดมี 13 กลุ่มและเกษตรกรรายย่อย 9 กลุ่ม มีปริมาณการผลิต6.1 แสนกิโลกรัมต่อปี ส่วนใหญ่เลี้ยงสายพันธุ์สะดิ้ง 50% ทองดำ 30% และทองแดง 20%
ส่วนตลาดในประเทศ มีการแปรรูปขั้นพื้นฐาน และ การขายแบบรถเข็นขายแมลงเป็นตัว ส่วนการแปรรูปในระดับอุตสาหกรรม มีทั้งตลาดออนไลน์ และ โมเดิร์นเทรด
สำหรับตลาดต่างประเทศ มีส่งออกผลิตภัณฑ์แมลงจากประเทศไทยไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชาสปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) หรือ CLMV (Cambodia-Laos PDR-Myanmar-Vietnam) สหภาพยุโรป (สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ เยอรมนี อเมริกาเหนือ(สหรัฐอเมริกาแคนาดา และเม็กซิโก) ญี่ปุ่น และ ออสเตรเลีย
ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ ยกระดับมาตรฐานการผลิตและการแปรรูปตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่การเพาะเลี้ยงที่ฟาร์มการแปรรูปที่โรงงาน จนถึงการส่งออก เพื่อตรวจสอบและรับรอง กำกับควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าให้มีความปลอดภัยอาหารและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า
เมื่อปี 2564 กรมปศุสัตว์ ได้ออกคำแนะนำ เกี่ยวกับขั้นตอนในการส่งออกจิ้งหรีด ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ฟาร์มได้รับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) จากกรมปศุสัตว์ ตาม มกษ. 8202-2560
การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด ขอบข่ายในจิ้งหรีดทองดำ ทองแดง และทองแดงลายหรือสะดิ้งหรือจิ้งหรีดบ้าน ข้อกำหนด 5 ข้อ ประกอบด้วย
1) องค์ประกอบฟาร์ม ได้แก่ ที่ตั้ง ผังและลักษณะ และโรงเรือน
2) การจัดการฟาร์ม ได้แก่ คู่มือการปฏิบัติงาน การจัดการจิ้งหรีด การจัดการน้ำและอาหาร บุคลากร การทำความสะอาดและการบำรุงรักษา
3) สุขภาพสัตว์ ได้แก่ การป้องกันและควบคุมโรค การบำบัดโรคมีการควบคุมการใช้ยาอย่างถูกต้องและเหมาะสม
4) สิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะ สิ่งปฏิกูลและน้ำ
5) การบันทึกข้อมูล มีการเก็บข้อมูลอย่างน้อย 3 ปี
ขั้นตอนที่ 2 การขึ้นทะเบียนโรงงานเพื่อการส่งออก (EST.) กับกรมปศุสัตว์ในขอบข่ายแมลงและผลิตภัณฑ์จากแมลง ได้การรับรองการปฏิบัติทางการผลิตที่ดี (GMP) และมีระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (HACCP) มีการแยกกระบวนการผลิตระหว่างส่วนดิบและส่วนสุกที่ชัดเจนและ สอดคล้องตามข้อกำหนดและระเบียบของประเทศคู่ค้า
ขั้นตอนที่ 3 การขอใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) จากกรมปศุสัตว์ มีเอกสารครบถ้วนและผ่านการตรวจสอบจากสัตวแพทย์ประจำโรงงาน เพื่อความปลอดภัยด้านอาหารและมั่นใจในสินค้าที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองจากกรมปศุสัตว์ มีคุณภาพมาตรฐานและสอดคล้องตามระเบียบและข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า
การส่งเสริมการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นอีกในความพยายามของภาครัฐในการส่งเสริมสนับสนุนและยกระดับเกษตรกร ให้สามารถสร้างงานสร้างอาชีพ และสร้างมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจให้ได้มาตรฐานสากล