นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จังหวัดกาญจนบุรีนับเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังติดอันดับต้น ๆ ของประเทศ เกษตรกรมีการปลูกหมุนเวียนต่อเนื่องตลอดทั้งปี ส่งผลให้สถานการณ์การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุหลักจากการนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคไปปลูก และมีแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหะนำโรค
กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำหนดมาตรการสร้างการรับรู้ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้แก่
1) มาตรการสร้างการรับรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ เกษตรกร และประชาชนทั่วไป ให้รับทราบและตระหนักรู้เกี่ยวกับที่มา ความสำคัญ ปัจจัยที่มีผลต่อการระบาดของโรค ผลกระทบที่เกิดจากการระบาดและแนวทางการป้องกันกำจัด เพื่อเตรียมเฝ้าระวังการเกิดการระบาด และรับมือกรณีเกิดการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง
2)มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดขึ้นในพื้นที่ โดยการสำรวจติดตามสถานการณ์การระบาดศัตรูพืชอย่างสม่ำเสมอและส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรใช้พันธุ์ทนทานต่อโรคใบด่างมันสำปะหลังเช่น ระยอง 72 เกษตรศาสตร์ 50 ห้วยบง 60
3) มาตรการควบคุม เพื่อป้องกันการระบาดไม่ให้ขยายวงกว้าง โดยการทำลายต้นเป็นโรคเมื่อพบการระบาด และใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อควบคุมและจำกัดพื้นที่การระบาดของศัตรูพืช
4) มาตรการให้ความช่วยเหลือ กรณีเกิดความเสียหายตามระเบียบกระทรวงการคลัง
5) มาตรการวิจัยและพัฒนาเพื่อการจัดการในระยะยาว ซึ่งหน่วยงานวิจัยจะศึกษาในเรื่องพันธุ์ต้านทาน หรือการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อลดการระบาดของโรค
และ 6) มาตรการติดตามและประเมินผล เพื่อการปรับแก้ในส่วนที่ยังเป็นปัญหาและอุปสรรคได้ทันท่วงที เพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพ
“มาตรการเหล่านี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการควบคุมการระบาดของโรค ซึ่งจะประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพได้หรือไม่นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งพี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการ ร่วมมือกันในการป้องกันกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดยนำความรู้และแนวทางการจัดการต่าง ๆไปปรับใช้ให้เกิดความตระหนักในการติดตามเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในแปลงปลูกของตนเองอย่างสม่ำเสมอ และเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่ปลูกอื่น ๆ ” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
สำหรับจังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 3,030,599 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 506,055 ไร่ นับเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดสามารถสร้างมูลค่าหลายล้านบาทต่อปี
แต่จากข้อมูลการรายงานตามระบบสารสนเทศกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า มีพื้นที่การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 14,366 ไร่ ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอ ได้มีการแจ้งเตือนภัย การประชาสัมพันธ์ การแนะนำส่งเสริม การสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจให้แก่เกษตรกร ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น
รวมทั้งการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างต่อเนื่องและจากสถานการณ์ดังกล่าว สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี จึงได้จัดการงานรณรงค์เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังขึ้น ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองตากยา ตำบลหนองตากยา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
โดยมีเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมจำนวน 120 คน เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรในเรื่องโรคใบด่างมันสำปะหลัง และแนวทางการป้องกันกำจัดอย่างถูกต้องเหมาะสม เกิดความตระหนักในการติดตามเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในแปลงปลูกตนเองอย่างสม่ำเสมอ และเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่น ๆ อันจะส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง