การคัดเลือกสายพันธุ์แมลงเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เกษตรกรคนเก่งของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ภูดิศ หาญสวัสดิ์ จากอำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น เล่าว่า “คำว่าแมลงเศรษฐกิจที่ถูกบัญญัติไว้หมายถึง สะดิ้ง จิ้งหรีด และก็จิ้งโกร่ง
จิ้งโกร่งคล้าย ๆ จิ้งหรีดแต่ว่าตัวใหญ่นะครับ ทีนี้ทางกลุ่มเดิมทีเขาเลี้ยงเป็นจิ้งหรีดทองดำตัวใหญ่ ๆ สีดำก็เลี้ยงกันมาเรื่อย จนกระทั่งเราได้เข้าร่วมกับโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ของทางกรมส่งเสริมการเกษตรนะครับ ก็ได้เป็นทั้งพี่เลี้ยงเป็นทั้งคู่ค้า เป็นทั้งต้นแบบ คือทางกลุ่มวิสาหกิจบ้านแสนตอ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น”
“สะดิ้ง” คล้าย ๆ จิ้งหรีดแต่ตัวสีขาวอมน้ำตาลแต่ว่าตัวเล็กกว่า ซึ่งสะดิ้งเป็นที่ต้องการของตลาดในเชิงอุตสาหกรรมเอาไปทำผงโปรตีน ส่วนตัวจิ้งหรีดก็จะมีจิ้งหรีดทองดำ จิ้งหรีดทองแดง แล้วก็ปัจจุบันมีการผสมข้ามสายพันธุ์ ในตลาดเรียกว่าจิ้งหรีดดำแดง ซึ่งถ้าเป็นตลาดของจิ้งหรีดเนี่ย ณ ปัจจุบันผู้บริโภคนิยมจิ้งหรีดดำแดงคือมีสีสันที่สวยงาม ไม่ดำจนเกินไปไม่แดงอย่างเดียว ซึ่งอันนี้ผู้บริโภคชอบ ประกอบกับข้อได้เปรียบจุดเด่นของดำและแดงพอมาอยู่ในที่เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแข็งแรง ตัวใหญ่สมบูรณ์ ไข่เยอะ ให้ผลผลิตดี
มันก็จะมีข้อดีของแต่ละสายพันธุ์มารวมกัน ทำให้กระบวนการหรือว่าธุรกิจในการเลี้ยงของจิ้งหรีดค่อนข้างได้รับผลตอบแทนที่ดี แต่ในขณะเดียวกันที่กลุ่มจะเป็นการเลี้ยงเพื่อส่งโรงงานเป็นหลัก ประมาณ80% เป็นสะดิ้ง 20% เป็นจิ้งหรีดสายพันธุ์ดำแดง”
ส่วนในเรื่องจุดเด่นจุดด้อยของของจิ้งหรีดและแมงสะดิ้ง ภูดิศ บอกว่า “สำหรับจิ้งหรีดที่ได้สัมผัสการเลี้ยงจริง ๆ เนี่ย ไม่ว่าจะเป็นตัวผมเองหรือว่าสมาชิก คือเข้าใจว่าอาจจะคุ้นเคยกับสายพันธุ์จะบอกกันว่าจิ้งหรีดเลี้ยงง่ายกว่าสะดิ้ง แต่ในส่วนของผลตอบแทนต่อบ่อเลี้ยงปริมาณของจิ้งหรีดก็คือจะน้อยกว่าสะดิ้งนะครับ ราคาขายสูงกว่าสะดิ้ง
โดยรวม ๆ แล้วในการเลี้ยงหรือว่าดูแลพฤติกรรมของจิ้งหรีดกับสะดิ้งเนี่ยแทบจะไม่ต่างกัน อาหารการกินก็ใกล้เคียงกัน ระยะเวลาในการเลี้ยง 45 วัน ถ้าเป็นสะดิ้งอาจจะบวก 4-5 วันนะครับ
ในเรื่องของการขยายพันธุ์ ในเรื่องของอัตราการตาย จริง ๆ แล้วสะดิ้งกับจิ้งหรีดก็แทบจะไม่ต่างกัน แต่เราจะเลือกเลี้ยงรุ่นนี้จะเน้นสะดิ้งมากกว่าหรือจะเน้นจิ้งหรีดมากกว่า ขึ้นอยู่กับตลาด”
เมื่อถามถึงแนวทางการเลี้ยงของกลุ่มเกษตรกรคนเก่งชี้แบบชัด ๆ ไปที่ตลาดนำการผลิต เอาตลาดหรือความต้องการทางตลาดเป็นที่ตั้ง ทำให้กลุ่มสามารถผลิตและจำหน่ายแมลงเศรษฐกิจได้
“ที่นี่ก็คือตลาดนำการผลิต มีอยู่ช่วงนึงสะดิ้ง 100% เลยก็มี นี่คือตลาดต้องการมาก่อน แล้วก็มีบางช่วงจิ้งหรีดไม่สามารถที่จะส่งขายได้ตามออเดอร์ ก็คือตลาดอาจจะตันก็มีเหมือนกัน ฉะนั้นแล้วเราจะต้องมีการติดตามข้อมูลไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า ตลาด เพจหรือเฟซบุ๊ก
ในเรื่องของการซื้อขายจิ้งหรีด เราจะเอาตลาดนำเสมอครับ แต่ว่าพอเวลาประมาณสัก 1 เดือนเราจะสังเกตแล้วว่าจิ้งหรีดหรือสะดิ้งไม่ตายนะ จิ้งหรีดและสะดิ้งตัวใหญ่แข็งแรงดีมีความสมบูรณ์ เราจะเริ่มมีการติดต่อคู่ค้าแล้วซึ่งแน่นอนคู่ค้าเราไม่ได้มีแค่เจ้าหรือสองเจ้า เรามีหลายเจ้า แล้วแต่ละเจ้าก็มีความพร้อมในการที่จะรับซื้อผลผลิตแต่ละช่วงที่ไม่เท่ากัน ก็จะมีทีมงานรวมถึงตัวผมด้วยในการติดต่อหาลูกค้าให้กับทั้งตัวเองและสมาชิกด้วยครับ สรุปก็คือการเลี้ยงไม่ได้ต่างกัน ขึ้นอยู่กับตลาดว่าตลาดต้องการแมลงชนิดไหนนะครับ”
เมื่อถามว่าการเลี้ยงไม่ต่างแล้วผลตอบแทนต่างกันหรือไม่ คำตอบที่ได้คือ…”ผลตอบแทนต่างกันครับ คือราคาของจิ้งหรีดจะแพงกว่าสะดิ้ง 10 บาทต่อกิโลกรัม ในทุก ๆ ตลาดที่เราไปเจอมาโดยเฉลี่ย แต่ว่าพอเป็นปริมาณผลผลิตจิ้งหรีดก็จะน้อยกว่าสะดิ้งต่อบ่อ ฉะนั้นแล้วรายได้ต่อ 1 บ่อของจิ้งหรีดกับสะดิ้ง เฉลี่ยแล้วก็แทบไม่ต่างกัน จิ้งหรีดได้ผลผลิตน้อยแต่ราคาสูง สะดิ้งได้ผลผลิตมากแต่ราคาต่ำกว่า เฉลี่ยแล้วพอๆ กันครับ”