ผอ.สวพ.6 เผยข้อมูลเจอถูกปลอมใบรับรอง GAP ล้งลำใยเตรียมฟ้องร้องดำเนินคดี พร้อมรื้อระบบหลังมกอช.ประกาศใช้รหัสรับรอง GAP รูปแบบใหม่ รองรับการถ่ายโอนให้แก่หน่วยรับรองเอกชนเพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวทั้งประเทศ มีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคม 2565 นี้
นาย ชลธี นุ่มหนู ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 หรือ สวพ.6 กรมวิชาการเกษตร แจ้งว่า พบมีการปลอมใบรับรองGAP แล้ว โดยพบกรณีมีผู้ทำใบรับรองแปลง GAP ลำไยปลอมครั้งนี้ ถูกใช้ประกอบการส่งออกลำไย ซึ่งสวพ.6 ได้ให้นิติกรรวบรวมหลักฐาน เพื่อฟ้องคดีผู้กระทำผิดต่อทางราชการแล้วตามมาตรา 264 และมาตรา 265 ในส่วนตัวที่มีผู้นำลายเซ็นที่ไม่ได้ยินยอมไปใช้ ก็จะแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 264 ด้วยเช่นกัน พร้อมย้ำว่า “ใบรับรอง GAP ถือเป็นเอกสารราชการ”
สำหรับจุดสังเกตที่ตรวจพบ คือ ตราสัญลักษณ์ของกรมวิชาการเกษตร จะเป็นการปริ้นส์สี และพื้นที่ คือสวพ.6 ไม่ใช่พื้นที่ สวพ.1
นาย ชลธี บอกด้วยว่า สงสัยเป็นการปลอมใช้ในพื้นที่เชียงใหม่ เมื่อย้ายล้งมาภาคตะวันออก จึงไม่ได้แก้ไข เพราะ จ.เชียงใหม่ อยู่ในเขต สวพ.1 และเมื่อปี 2564 สวพ.6 แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ปลอมแปลงใบรับรอง GAP ของล้งลำใย ใน เขต อ.ขลุง จ.จันทบุรี และพบว่าคนที่กระทำการปลอมใบรับรอง GAP เป็น จนท.รัฐ อยู่ในอำเภอสอยดาว จนถึงวันนี้ การเำเนินคดียังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
ขณะเดียวกัน ผอ.สวพ.6 ยังเปิดเผยด้วยว่า สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช)ได้ประกาศใช้รหัสรับรอง GAP รูปแบบใหม่ เพื่อรองรับการถ่ายโอนให้แก่หน่วยรับรองเอกชนเพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวทั้งประเทศ มีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคม 2565 นี้
ถือเป็นงานหนักของ สวพ.6 เพราะมีแปลงรับรองไม้ผลส่งออกที่จำเป็นต้องใช้ใบรับรอง GAP มากที่สุดแปลงรับรองส่วนใหญ่จะหมดอายุเดือนธันวาคม 2565-มีนาคม 2566 แปลงที่หมดอายุเมื่อขอต่ออายุ จะได้รหัสรับรองใหม่
ส่วนแปลงที่ยังไม่หมดอายุใบรับรองรหัสเก่าจะใช้ได้ถึงเดือนธันวาคม 65 นี้เท่านั้น ดังนั้นสวพ.6 จะออกใบรับรองฉบับใหม่ ที่เป็นรหัสรับรองแบบใหม่ให้ทั้งหมด และส่งให้เจ้าของแปลงเองโดยไม่ต้องยื่นขอ ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการให้กับแปลงลำไยก่อน เพราะใกล้ฤดูเก็บเกี่ยว หลังจากนั้นจะทยอยออกให้กับทุเรียนและมังคุดเป็นรายหมู่บ้านของแต่ละตำบลต่อไปจนครบ ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสเป็นการล้างใบรับรองที่ตกค้างอยู่ในมือผู้ส่งออก แล้วเอาใบรับรองไปสวมใช้โดยเจ้าของไม่ทราบเรื่อง
จากนี้ไปเกษตรกรจะต้องมอบใบรับรอง GAP ให้กับผู้ซื้อผลผลิต และต้องเขียนกำกับในสำเนาใบรับรองGAP ก่อนทุกครั้ง(ตามรูปแบบในภาพ) ส่วนผู้ซื้อก็ต้องขอใบรับรอง GAP จากเกษตรกรทุกครั้งถ้าไม่มีหรือไม่ให้ใบรับรอง GAP ก็อย่าซื้อ
หน้าที่ของเกษตรกรในเวลานี้คือตรวจสอบใบรับรองแปลง GAP ของตนเองว่าใกล้จะหมดอายุหรือยังสามารถขอต่อก่อนหมดอายุได้ใน 60 วัน สามารถขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลให้ตรงความเป็นจริงก่อนรับรหัสใหม่ได้ คอยติดตามการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ของสวพ.6 และติดตามทวงถามถ้ายังไม่ได้ใบรับรองเมื่อครบเวลา
“งานนี้ไม่ต้องดราม่านะครับเพราะเป็นไฟลท์บังคับคนที่เหนื่อยสุดคือ ผอ.สวพ.6 ที่ต้องนั่งเซ็นชื่อในใบรับรอง GAP กว่า 80,000 ฉบับ จะใช้ลายเซ็นแบบสแกนก็ไม่ได้เพราะขนาดเซ็นจริงทุกฉบับยังมีคนเอาไปทำปลอมเฉยเลยฝากช่วยประชาสัมพันธ์ให้ทราบทั่วกันด้วยครับ” ผอ.สวพ.6 กล่าว