นักวิจัยคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ พบหอยมุกชนิดใหม่ของโลก ที่เกาะดอกไม้ จ.ภูเก็ต อาศัยอยู่ในทะเลที่ความลึกประมาณ 5-10 เมตร กระจายพันธุ์ได้เร็ว ลักษณะคล้ายหอยมุกแกลบ แต่ขนาดเล็กกว่า นำมาเลี้ยงในฟาร์มผลิตมุก จะเกิดลูกหอยกระจายทั่ว ผิวมีความวาวสูง มีประกายเป็นสีรุ้ง เหมาะทำมุกกลมขนาดเล็ก มีคุณภาพดี ลุ้นขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของภูเก็ต
ทีมวิจัยคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย น.ส.สุพรรณี สมรูป นิสิตปริญญาโท หลักสูตรสองปริญญา “KU-OUC Dual Degree Program” ภายใต้การดูแลของ ศ.ดร.หลิว ซื่อไค (Liu Shikai) จาก Ocean University of China และ ผศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ เมืองใหม่ ภาควิชาชีววิทยาประมง ดร.อัครศิริ แสงสว่าง ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ดร.ณิชนันทน์ แมคมิลแลน ดร.สุพนิดา วินิจฉัย สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และนายจิตติ อินทรเจริญ จากอินทรฟาร์ม ได้ค้นพบหอยมุกชนิดใหม่ของโลก มีชื่อว่า “หอยมุกภูเก็ต” Pinctada phuketensis sp. nov. จากเกาะดอกไม้ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนทุนวิจัยบางส่วนจากรัฐบาลจีน คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และอินทรฟาร์ม
ผศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ เมืองใหม่ หนึ่งในทีมผู้วิจัย เปิดเผยว่า การค้นพบหอยมุกชนิดใหม่นี้ มีจุดเริ่มต้นจากโครงการวิจัย “การเพิ่มมูลค่าและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้และของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมการเลี้ยงหอยมุกสู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์ในอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพและความงาม”
โดย ดร.สุพนิดา วินิจฉัย ร่วมกับอินทรฟาร์ม ได้ทุนสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(องค์การมหาชน) เพื่อศึกษาชนิดและพันธุกรรมของหอยมุกบริเวณ จ.ภูเก็ต และได้เก็บตัวอย่างหอยมุกเพิ่มเติมจากอินทรฟาร์มและบริเวณเกาะดอกไม้ จ.ภูเก็ต
จากการเปรียบเทียบข้อมูลทางสัณฐานวิทยาและพันธุกรรม พบว่าตัวอย่างหอยมุกที่เก็บได้จากเกาะดอกไม้มีลักษณะที่แตกต่างจากหอยมุกชนิดอื่นๆ จึงรายงานเป็นหอยมุกชนิดใหม่ของโลก
ผศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับหอยมุกภูเก็ตชนิดใหม่นี้ อาศัยอยู่ในทะเลที่ความลึกประมาณ 5-10 เมตร ลักษณะเปลือกและรูปร่างภายนอกคล้ายคลึงกับหอยมุกแกลบ (Pinctada fucata) แต่มีขนาดเล็กกว่า ไม่มีฟันบานพับ (hinge teeth) เปลือกด้านในเรียบและเป็นสีขาวมันวาว การวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมจากยีนในนิวเคลียส และไมโทคอนเดรีย (COI) ยืนยันว่าหอยมุกภูเก็ตเป็นหอยมุกชนิดใหม่
ปัจจุบันทางอินทรฟาร์มมีการผลิตมุกเลี้ยงโดยการฝังแกนมุกเข้าไปในอวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ของหอยมุกชนิดใหม่นี้ ซึ่งมุกที่ได้มีคุณภาพดีและค่อนข้างเป็นที่ต้องการของตลาด และลักษณะหอยสามารถพบในพื้นที่น้ำไม่ลึกมาก กระจายพันธุ์ได้เร็ว เมื่อเก็บจากน้ำลึกมาไว้ในฟาร์มจะเกิดลูกหอยกระจายไปทั่ว ผิวมีความวาวสูง มีประกายเป็นสีรุ้ง ลักษณะฝาแบนกว่า จึงเหมาะในการทำมุกกลมขนาดเล็ก 2-6 มม.
ดังนั้นการผลิตมุกจากหอยมุกชนิดใหม่นี้ควรได้รับการพัฒนาทั้งวิธีการผลิตและการปรับปรุงพันธุ์หอยมุกเพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ามุก และผลักดันให้ไปสู่การขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้า GI ของจังหวัดภูเก็ต ในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้ การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง จากทะเลอันดามันเป็นการตอกย้ำถึงความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมทางทะเลของไทยที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นการอนุรักษ์คุณค่าและความงดงามของท้องทะเลไทยเพื่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่อย่างยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง
ขอบคุณข้อมูล : คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์