ในปีพุทธศักราช 2447 ได้มีการเริ่มกิจการทางสาขาสัตวแพทย์ขึ้นใน “กรมช่างไหม” กระทรวงเกษตราธิการในสมัยนั้น โดยได้มีการเปิดสอนวิชาสัตวแพทย์ขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2451 กรมช่างไหมได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมเพาะปลูก” ซึ่งได้มีการจัดตั้งกิจการผสมสัตว์ และกิจการแผนกรักษาสัตว์ขึ้นในกรมในปี พ.ศ. 2474 ได้โอนกรมเพาะปลูกไปร่วมกิจการของกองตรวจพันธุ์รุกขชาติ โดยจัดตั้งขึ้นเป็น “กรมตรวจกสิกรรม” สังกัดกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 ได้แยกกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมออกเป็นกระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรพาณิชย์ซึ่งต่อมากระทรวงเกษตรพาณิชย์ได้เปลี่ยนเป็นกระทรวงเศรษฐการและในส่วนกรมตรวจกสิกรรมได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมเกษตร” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมเกษตรและการประมง” จนกระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2495 “กรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมการปศุสัตว์” สังกัดกระทรวงเกษตร (เปลี่ยนชื่อจากกระทรวงเกษตราธิการ) และในปลายปี พ.ศ. 2495 ได้ย้ายที่ตั้งกรมจากข้างป้อมพระสุเมรุ ถนนพระอาทิตย์ มาอยู่ ณ สถานที่ปัจจุบัน ถนนพญาไท แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ และในปีถัดมา คือ ในวันที่ 26 ธันวาคม 2496 กรมการปศุสัตว์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น“กรมปศุสัตว์” ดังเช่นในปัจจุบัน
กรมปศุสัตว์ (Department of Livestock Development) เป็นหน่วยงานราชการไทย ประเภทกรม สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ดูแลและควบคุมการเลี้ยงสัตว์ ทั้งด้านสุขภาพ การบำบัดโรค การบำรุงพันธุ์ การควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ สถานพยาบาลสัตว์ โรคระบาดสัตว์ การปศุสัตว์ไปจนถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์
กรมปศุสัตว์ ขึ้นทะเบียน “ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์ ถนนพญาไท” เป็นโบราณสถาน โดยกรมศิลปากร ประกาศเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ความว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 กรมศิลปากร จึงประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดิน โบราณสถานตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์ ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ให้มีพื้นที่โบราณสถาน 3 ไร่ 57.75 ตารางวา ประกาศ ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร นับเป็นการสร้างความภาคภูมิใจและเป็นที่ปิติยินดีแก่กรมปศุสัตว์เป็นอย่างยิ่ง