สถานการณ์น้ำท่วมหนักในจังหวัดระยองในรอบกว่า 60 ปี ปศุสัตว์ได้เร่งสำรวจความเสียหายและผลกระทบ ฟาร์มต้องเสียไก่ จากน้ำท่วมครั้งนี้กว่า 4 หมื่นตัวแล้ว
สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดระยอง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายจากอุทกภัย ที่ตำบลกะเฉดและตำบลแกลง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ผลการปฏิบัติงาน พบเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ได้รับความเสียหายจำนวน 3 ราย ไก่ตายจำนวนทั้งหมด 41,000 ตัว
เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ 3 ราย มีโคตายจำนวน 1 ตัว และเกษตรกรตำบลกระแสบน อำเภอแกลง ได้รับความเสียหายจำนวน 1 ราย ไก่เนื้อตาย 140,000 ตัว
สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดระยองได้มอบเวชภัณฑ์สัตว์และเสบียงอาหารสัตว์เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเบื้องต้น พร้อมรายงานความเสียหายเบื้องต้น ดังนี้
ฟาร์มพยอม เลขที่ 194/3 หมู่ 3 ตำบลแกลงกะเฉด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เลี้ยงไก่ทั้งหมด 2 หลัง หลังที่ 1 เลี้ยง 7,800 ตัว อายุ 18 วัน หลังที่ 2 เลี้ยง 12,500 ตัว อายุ 20 วัน รวมไก่ตายทั้งหมด 20,300 ตัวเป็นฟาร์มมาตรฐาน เลี้ยงแบบประกันราคากับบริษัทเกษตรชล ถูกน้ำท่วมไก่ตายทั้งหมด
ฟาร์ม สมทรง สมสกุล เลขที่ 194/2 หมู่ 3 ตำบลแกลงกะเฉด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เลี้ยงไก่ทั้งหมด 1 หลัง เลี้ยง 9,000 ตัว อายุ 21 วัน เป็นฟาร์มมาตรฐาน เลี้ยงแบบประกันราคากับบริษัทเกษตรชล ถูกน้ำท่วมไก่ตายทั้งหมด
ฟาร์ม สมศรี ชื่นกลิ่น เลขที่ 194/1 หมู่ 3 ตำบลแกลงกะเฉด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เลี้ยงไก่ทั้งหมด 2 หลัง หลังที่ 1 6,000 ตัวอายุ 19 วัน หลังที่ 2 5,700 ตัว อายุ 19 วัน รวมไก่ทั้งหมด 11,700 เป็นฟาร์มมาตรฐาน เลี้ยงแบบประกันราคากับบริษัทเกษตรชล ถูกน้ำท่วมไก่ตายทั้งหมด
ขณะเดียวกัน นายสมพร พานิชรัมย์ เจ้าหนักงานสัตวบาลชำนาญงาน รักษาราชการแทนปศุสัตว์อำเภอบ้านค่าย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอบ้านค่าย, กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยังได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีฝนตกหนัก น้ำท่วมขัง ทำให้น้ำท่วมคอกสัตว์และพื้นที่แปลงหญ้าอาหารสัตว์ โดยมีจำนวนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้ พื้นที่ ม.1,2 ต.ตาขันเกษตรกรจำนวน 10 ราย โค 128 ตัว ,เกษตรกรจำนวน 3 ราย กระบือ 23 ตัว,พื้นที่ ม.1 ต.บ้านค่ายเกษตรกรจำนวน 1 ราย โค 22 ตัว
พร้อมกับได้ตรวจสอบและปรับปรุงการขึ้นทะเบียนของเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน มอบเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์แก่เกษตรกร เพื่อเป็นการป้องกันการเจ็บป่วยและการเกิดโรคระบาดของสัตว์เลี้ยงภายหลังน้ำลด
สำหรับการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ด้านการเกษตรให้ดำเนินการช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยพิบัติที่ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนกับหน่วยงานที่กำกับดูแลแต่ละด้านของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนเกิดภัยพิบัติแล้วเท่านั้น โดยการเบิกจ่ายให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตรา ดังต่อไปนี้
ด้านปศุสัตว์
ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในกรณีที่เป็นการจัดหาอาหารสัตว์ วัคซีนและเวชภัณฑ์รักษาสัตว์ เพื่อการฟื้นฟูสุขภาพสัตว์เลี้ยง และการจัดหาอาหารสัตว์ ตามราคาท้องตลาด หรือตามความจำเป็นเหมาะสม
การให้ความช่วยเหลือกรณีแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรตายหรือเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟูหรือเยียวยาให้กลับสู่สภาพเดิมได้ ให้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นเงิน ในอัตราไร่ละ 1,980 บาท แต่ไม่เกินรายละ 30 ไร่
การให้ความช่วยเหลือกรณีสัตว์ตายหรือสูญหาย ให้ช่วยเหลือตามจำนวนที่เสียหายจริง แต่ไม่เกินเกณฑ์การช่วยเหลือที่กำหนด โดยให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เป็นเงิน ดังนี้
ขนิดสัตว์
ไก่พื้นเมือง/ไก่งวง
-อายุ 1- 21 วัน อัตราตัวละ 30 บาท
-อายุมากกว่า 21 วัน ขึ้นไป อัตราตัวละ 80 บาท
เกณฑ์การช่วยเหลือต่อราย ไม่เกินรายละ 300 ตัว
ไก่ไข่
-อายุ 1- 21 วัน อัตราตัวละ 30 บาท
-อายุมากกว่า 21 วัน ขึ้นไป อัตราตัวละ 100 บาท
เกณฑ์การช่วยเหลือไม่เกินรายละ 1,000 ตัว
ไก่เนื้อ
-อายุ 1- 21 วัน อัตราตัวละ 20 บาท
-อายุมากกว่า 21 วัน ขึ้นไป อัตราตัวละ 50 บาท
เกณฑ์การช่วยเหลือไม่เกินรายละ 1,000 ตัว
เป็ดไข่
-อายุ 1- 21 วัน อัตราตัวละ 30 บาท
-อายุมากกว่า 21 วัน ขึ้นไป อัตราตัวละ 100 บาท
เกณฑ์การช่วยเหลือไม่เกินรายละ 1,000 ตัว
เป็ดเนื้อ/เป็ดเทศ
-อายุ 1- 21 วัน อัตราตัวละ 30 บาท
-อายุมากกว่า 21 วัน ขึ้นไป อัตราตัวละ 80 บาท
เกณฑ์การช่วยเหลือไม่เกินรายละ 1,000 ตัว
นกกระทา
-อายุ 1- 21 วัน อัตราตัวละ 10 บาท
-อายุมากกว่า 21 วัน ขึ้นไป อัตราตัวละ 30 บาท
เกณฑ์การช่วยเหลือไม่เกินรายละ 1,000 ตัว
นกกระจอกเทศ อัตรา 2,000 บาทรายละไม่เกิน 10 ตัว
ห่าน อัตรา 100 บาท ไม่เกินรายละ 300 ตัว