วันที่ 7 ก.ย. 65 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พร้อมคณะ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจสภาพลำน้ำชี ลำน้ำมูล และสภาพพื้นที่ลุ่มต่ำบางจุดที่พบว่ามีน้ำหลากเข้ากระทบพื้นที่เกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ และบางพื้นที่ของ จ.ศรีสะเกษ ที่มีปริมาณน้ำค่อนข้างมากและไหลช้า ก่อนประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และจังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น ณ สำนักชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ
และคาดการณ์แนวโน้มฝนในพื้นที่ภาคอีสาน ก่อนลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณแก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร ซึ่งปัจจุบันกรมชลประทานได้มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ และเดินเครื่องเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำมูลลงแม่น้ำโขงให้เร็วขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว และสถานีวัดน้ำ M.7 สะพานเสรีประชาธิปไตย จ.อุบลราชธานี ตามลำดับ
เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้มอบหมายให้ สทนช.ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จุดเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อซักซ้อมหน่วยงานในการเร่งปฏิบัติการตาม 13 มาตรการให้เข้มข้น ซึ่งหลายพื้นที่มีปริมาณน้ำค่อนข้างมากจากฝนที่ตกหนักในช่วงนี้และในระยะต่อไป
ทั้งนี้จากการขึ้น ฮ.บินสำรวจลำน้ำชีและลำน้ำมูล พบว่า ในลำน้ำชีมีปริมาณน้ำที่ลดลง แต่ในลำน้ำมูลมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก ตั้งแต่ จ.สุรินทร์ ศรีษะเกษ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันบริหารจัดการน้ำเพื่อให้การระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังลงน้ำโขงโดยเร็ว แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเก็บกักน้ำเข้าพื้นที่แก้มลิงเพื่อใช้ในช่วงแล้งด้วย
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ปริมาณฝนรวมกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำชี-มูล คาดว่าวันที่ 10 ก.ย.นี้ ระดับน้ำที่สถานี M.7 จ.อุบลราชธานี จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 111.97 เมตร รทก. จากระดับตลิ่งรองรับได้ 112 เมตร รทก. ซึ่งต่ำกว่าระดับตลิ่งประมาณ 3 ซม.
ประกอบกับ สถานการณ์น้ำโขงยกตัวสูงขึ้นจากวานนี้ (6 ก.ย.65) ถึง 53 เซนติเมตร ทำให้การระบายน้ำขณะนี้ทำได้ค่อนข้างยากแต่คาดว่าหลังจากวันที่ 10 ก.ย.นี้ ระดับน้ำโขงจะเริ่มลดลงทำให้การระบายได้เร็วขึ้น ซึ่งกรมชลประทาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังและเร่งระบายลงแม่น้ำโขงต่อไป
ขณะที่จุดคันกั้นน้ำต่าง ๆ ได้มีการสำรวจความมั่นคงแข็งแรงพร้อมรับสถานการณ์แล้ว ส่วนที่เป็นพื้นที่จุดฟันหลอกรมชลประทานร่วมกับเทศบาล และปภ. จัดเตรียมกระสอบทรายเพื่อป้องกันเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ อ.วารินชำราบ ที่เมื่อระดับน้ำที่ M.7 สูงขึ้นก็จะได้รับผลกระทบก่อน
ดังนั้น จากการประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชี – น้ำมูลปัจจุบัน และเป็นการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ในวันพรุ่งนี้ (8 ก.ย.65) จะมีการเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ สำนักชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี อย่างเป็นทางการ ตามที่ กอนช. ให้ความเห็นชอบ โครงสร้างและรูปแบบการดำเนินการของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และเห็นผลเป็นรูปธรรม
โดยแบ่งภารกิจหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็น 3 กลุ่ม คือ 1 ส่วนอำนวยการ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ประเมินสถานการณ์ และแจ้งเตือนภัย พร้อมทั้งรายงานและเสนอความเห็นต่อผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า
2. ส่วนปฏิบัติการ/เผชิญเหตุ เพื่อประสานงานและบูรณาการข้อมูลในการเตรียมความพร้อมทั้งสรรพกำลัง เครื่องมืออุปกรณ์ แผนปฏิบัติการ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย
และกลุ่มที่ 3 ส่วนสนับสนุน การปฏิบัติงานทั้งด้านการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร การแจ้งเตือนและระบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปัญหาอุทกภัย ซึ่งการปฏิบัติการศูนย์อำนวยการฯ ส่วนหน้า จะดำเนินการต่อเนื่องจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝนนี้