การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 6 กันยายน 2565 มีมติอนุมัติให้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 663,879,300บาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายโครงการจัดหาเครื่องจักรกลสูบน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งรวม 3 รายการ จำนวน 203 เครื่อง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอโดยเป็นเครื่องสูบน้ำชนิดหอยโข่งขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซลขนาดท่อต่าง ๆ ดังนี้
ขนาดท่อส่งไม่น้อยกว่า 8 นิ้ว จำนวน 27 เครื่อง งบประมาณ 67,130,100 ล้านบาท
ขนาดท่อส่งไม่น้อยกว่า 10 นิ้ว จำนวน 34 เครื่อง งบประมาณ 99,749,200 ล้านบาท
ขนาดท่อส่งไม่น้อยกว่า 14 นิ้ว จำนวน 142 เครื่อง งบประมาณ 497 ล้านบาท
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ รายงานว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งรุนแรงมากขึ้นก่อให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานที่มีภารกิจหลักในการบริหารจัดการน้ำได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาระยะเร่งด่วน ได้กำหนดแนวทางในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัติงาน เร่งรัดการจัดหาอุปกรณ์ เครื่องจักร เครื่องมือ ที่ทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อลดความเสียหายเนื่องมาจากอุทกภัยและภัยแล้ง
แต่การดำเนินงานที่ผ่านมาพบปัญหาและอุปสรรคในบางพื้นที่คือ เครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ไม่เหมาะสมกับภูมิประเทศหรือลักษณะการใช้งานเช่น ระยะยกน้ำไม่เพียงพอต้องแก้ปัญหาด้วยการสูบน้ำแบบหลายตอน ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเท่าที่ควรรวมถึงปัจจุบันเครื่องสูบน้ำของกรมชลประทานที่มีอยู่ มีอายุการใช้งานมานานมีปัญหาการชำรุดบ่อยครั้งเป็นผลทำให้การช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนมีความล่าช้า
กรมชลประทานมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการจัดหาเครื่องจักรกลสูบน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง เพื่อให้มีเครื่องจักรกลสูบน้ำเพียงพอพร้อมสนับสนุนภารกิจของกรมชลประทาน เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานป้องกันความเสียหายและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำให้รวดเร็วขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้มีเครื่องสูบน้ำที่มีสมรรถนะสูงและมีคุณลักษณะเฉพาะตรงกับความจำเป็นใช้งาน เพียงพอพร้อมสนับสนุนภารกิจของกรมชลประทาน นโยบายรัฐบาลตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี และเพื่อทดแทนเครื่องสูบน้ำที่มีอายุการใช้งานมากและมีประสิทธิภาพการทำงานต่ำ ซ่อมแซมไม่คุ้มค่า รวมทั้งเพื่อปรับแผนวิธีการหรือแนวทางการเผชิญเหตุอุทกภัย และภัยแล้งเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานป้องกันความเสียหาย และบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ การช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนที่รวดเร็วขึ้น
กรมชลประทานจึงขอใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 663,879,300 บาท ซึ่งจะทำให้กรมชลประทานมีเครื่องจักรกลสูบน้ำที่มีสมรรถนะสูงและมีคุณลักษณะเฉพาะตรงกับความจำเป็นใช้งาน เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานพร้อมปฏิบัติงานในภารกิจกรมชลประทานทั้งในด้านบริหารจัดการน้ำ การเผชิญเหตุอุทกภัย แก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากอุทกภัย ภัยแล้ง การเพิ่มพื้นที่ชลประทานตลอดจนการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล
วงเงินงบกลางก้อนที่สอง ใช้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/66 เพิ่มเติม 576 โครงการ มีกรอบวงเงิน 911.71 ล้านบาท
ทั้งนี้จะเป็นการดำเนินการภายใต้ 3 กระทรวง 7 หน่วยงาน ดังนี้
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน 4 โครงการ วงเงิน 192.07 ล้านบาท
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 519 โครงการ วงเงินรวม 619.71 ล้านบาท โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล 496 โครงการ วงเงิน 376.42 ล้านบาท และกรมทรัพยากรน้ำ 23 โครงการ วงเงิน 243.28 ล้านบาท
กระทรวงมหาดไทย 53 โครงการ วงเงินรวม 99.92 ล้านบาท ประกอบด้วย จังหวัด จำนวน 1 โครงการ วงเงิน 4.57 ล้านบาท องค์การบริหารส่วนจังหวัด 40 โครงการ วงเงิน 62.11 ล้านบาท องค์การบริหารส่วนตำบล 11 โครงการ วงเงิน 31.63 ล้านบาท และเทศบาลตำบล 1 โครงการ วงเงิน 1.60 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อโครงการต่าง ๆ ดำเนินการแล้วเสร็จนั้น จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 3,542 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ประมาณ 542 ครัวเรือน ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 3.32 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถกำจัดผักตบ/วัชพืชน้ำได้ถึง 97,988 ตัน รวมถึงจะมีการซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ให้ใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์อีก 9 แห่งด้วย