นายวัชรพงษ์ แก้วหอม รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า อาชีพการทอผ้า คืออาชีพเก่าแก่ของไทยที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นงานที่ต้องอาศัยฝีมือและความรู้ความชำนาญของผู้ทอเป็นอย่างมาก ถือเป็นงานศิลปะอันทรงคุณค่าที่สามารถสร้างรายได้แก่ผู้ทอได้เป็นอย่างดี โดยในปัจจุบันพบว่า ผู้ทำอาชีพด้านนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งในกระบวนการทอผ้าบางอย่างอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ทอที่เป็นผู้สูงอายุได้
กรมหม่อนไหมและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ จึงได้ร่วมกันวิจัยเพื่อพัฒนาอุปกรณ์การทอผ้าที่ช่วยอำนวยความสะดวก และสามารถลดเวลาในการทำงานด้านการทอผ้าไหมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ได้แก่ เครื่องค้นหมี่ ที่วางมัดหมี่ เครื่องกรอเส้นไหม และเครื่องปั่นไหมเข้าหลอดเส้นพุ่ง และได้ทำการคัดเลือกผู้ทอผ้าที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป จากบ้านด่านเจริญ ตำบลกระเทียม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ และบ้านไทรงาม ตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ มาร่วมทดสอบประสิทธิภาพเครื่องต้นแบบ ดังนี้
1) เครื่องค้นหมี่ แบบดั้งเดิมต้องใช้มือโยกค้นหมี่ไปมา หากทำต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำให้เกิดความเมื่อยล้า มือ แขน และหัวไหล่ แต่เครื่องค้นหมี่ต้นแบบวิจัยได้ปรับให้เป็นระบบไฟฟ้า มีปุ่มเปิดปิดสวิตช์การทำงาน และใช้เท้าเหยียบควบคุม มีปุ่มปรับระดับความเร็วหรือช้าได้ จากการทดสอบค้นหมี่จำนวน 1 หัว (ทอผ้าได้ 2 เมตร) พบว่า แบบดั้งเดิมจะใช้เวลาค่อนข้างนานประมาณ 7 – 8 ชั่วโมง แต่เครื่องที่ต้นแบบใช้เวลาเพียง 30 นาที
2) เครื่องปั่นไหมเข้าหลอดเส้นพุ่ง แบบดั้งเดิมจะใช้มือหมุนปั่นทำให้เกิดความเมื่อยล้า มือ แขน และหัวไหล่ ค่อนข้างมาก ส่วนเครื่องต้นแบบวิจัยนี้เป็นระบบไฟฟ้า มีปุ่มเปิดปิดสวิตช์การทำงาน มีความสะดวกรวดเร็วกว่าแบบดั้งเดิม เหมาะกับผู้ปฏิบัติงานซึ่งส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุ เมื่อเปรียบเทียบการทำงานปั่นไหม 1 ไจ พบว่า แบบดั้งเดิมใช้เวลาประมาณ 40 – 45 นาที ส่วนเครื่องต้นแบบการวิจัยใช้เวลาเพียง 25 – 30 นาที
3) ที่วางมัดหมี่ ได้พัฒนาอุปกรณ์ให้มีที่นั่งปฏิบัติงานที่มั่นคง ปรับปรุงจากแบบดั้งเดิมนั้นต้องนั่งปฏิบัติงานกับพื้น เมื่อเปรียบเทียบการนั่งทำงานมัดหมี่ 1 หัว(ทอผ้าได้ 2 เมตร) พบว่าใช้เวลาในการปฏิบัติงานไม่แตกต่างกัน แต่แบบเครื่องต้นแบบการวิจัยจะเกิดความเมื่อยล้าน้อยกว่าแบบดั้งเดิม
4) เครื่องกรอเส้นไหม แบบดั้งเดิมต้องใช้มือหมุนกรอเส้นไหมและทำได้เพียงครั้งละ 1 ไจเมื่อเปรียบเทียบกับการกรอเส้นไหมด้วยเครื่องต้นแบบการวิจัยซึ่งทำงานด้วยระบบไฟฟ้า สามารถกรอได้ถึง 6 ไจพร้อมกัน ส่งผลให้ได้ปริมาณงานมากกว่าแบบดั้งเดิม 6 เท่า
จากผลทดสอบดังกล่าว พบว่าการใช้อุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นมา ช่วยเพิ่มความสะดวก ลดขั้นตอนและเวลา และลดความเมื่อยล้าจากการทำกิจกรรมในกระบวนการทอผ้าได้ค่อนข้างมาก โดยอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นเป็นเครื่องต้นแบบการวิจัย จะนำไปถ่ายทอดความรู้เพื่อการใช้ประโยชน์ที่แพร่หลายให้แก่ผู้สูงอายุที่ทำอาชีพทอผ้าต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สุรินทร์ โทรศัพท์ 04 451 1393 หรือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ โทรศัพท์ 04 415 3062