ด้วยลักษณะภูมิศาสตร์ของเมืองเฉวียนโจวที่มีชายฝั่งทะเลยาวเป็นอันดับ 2 ของมณฑลฝูเจี้ยนทำให้เมืองเฉวียนโจวเป็นหนึ่งในเเหล่งประมงที่สำคัญของมณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน
โดยในปี 2564 อุตสาหกรรมการประมงของเมืองเฉวียนโจวมีมูลค่าการผลิต 1.46 หมื่นล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 8.6 ของมูลค่าการผลิตทางการประมงทั้งมณฑลฝูเจี้ยน สูงเป็นอันดับ 4 ของมณฑล รองจากนครฝูโจว (6.3 หมื่นล้านหยวน) เมืองหนิงเต๋อ (3.2 หมื่นล้านหยวน) และเมืองจางโจว (2.4 หมื่นล้านหยวน)
อีกทั้งเมืองเฉวียนโจวยังเป็นที่ตั้งของท่าเรือประมงศูนย์กลางแห่งชาติ 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือประมงศูนย์กลางแห่งชาติเซินฮู่ อำเภอจิ้นเจียง ท่าเรือประมงศูนย์กลางแห่งชาติเซินฮู่เซียงจือ และท่าเรือประมงศูนย์กลางแห่งชาติเซินฮู่
อำเภอจิ้นเจียงและอำเภอสือซือ เป็นพื้นที่พัฒนาหลักของอุตสาหกรรมทางการประมงของเมืองเฉวียนโจว โดยอำเภอจิ้นเจียงเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเลเซินฮู่ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 โครงการก่อสร้าง เขตเศรษฐกิจท่าเรือประมงหลักของมณฑลฝูเจี้ยน และเป็นที่ตั้งของวิสาหกิจประมงชั้นนำของมณฑลฝูเจี้ยนจำนวนมาก เช่น บริษัท Fujian Wanhong Ocean Bio-Tech จำกัด ผู้ผลิตเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล และแปรรูปและขนส่งห่วงโซ่ความเย็น (Cold Chain Logistics) ของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแบบครบวงจร
นอกจากนั้น เมืองเฉวียนโจวมีข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่ใกล้กับไต้หวัน ระยะทางห่างจากเกาะจินเหมิน เพียง 5 ไมล์ทะเลจึงมีบทบาทที่สำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าสินค้าประมงระหว่างสองฝั่งช่องแคบ โดยเป็นเมืองหลักรองจากเมืองเซี่ยเหมินในการกระจายสินค้าประมงที่นำเข้าจากไต้หวันไปยังทุกพื้นที่ภายในมณฑลและมณฑลใกล้เคียง อาทิ กวางตุ้ง เจียงซู และที่อื่น ๆ โดยสินค้าการประมงที่มีการนำเข้าจากไต้หวัน อาทิ ปลาดาป แช่เย็น ปลาหมึกแช่แข็ง เต่า ปลาซันมะ และปลากุเลา โดยเฉลี่ยใช้เวลาการขนส่งทางเรือจากไต้หวันประมาณ 1.5 ชั่วโมง
การส่งเสริมการประมงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของเมืองเฉวียนโจว
ที่ผ่านมา รัฐบาลเมืองเฉวียนโจวได้ดำเนินมาตรการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาของอุตสาหกรรมการประมงอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการประมงเพื่อยกระดับ การประมงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและบรรลุเป้าหมายการสร้าง “เมืองทางทะเลที่สะอาดและสวยงาม” ซึ่งเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568) ของเมืองเฉวียนโจว
กรมทะเลและการประมงเมืองเฉวียนโจวได้ออกมาตรการส่งเสริมการพัฒนาการประมงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่ (1) การเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนงบประมาณจำนวน 18.6 ล้านหยวน เพื่อปรับเปลี่ยนการเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นการใช้ทุ่นลอยและกระชังป้องกันลมและคลื่นในน้ำลึกซึ่งทำจากพลาสติกชีวภาพ ซึ่งจะสามารถช่วยลดการสร้างขยะทางทะเลจากต้นทาง โดยปัจจุบัน เมืองเฉวียนโจว ได้เปลี่ยนเป็นการใช้ทุ่นลอยลอยน้ำพลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 3,270 ไร่
(2) การให้เงินอุดหนุน เพื่อส่งเสริมการลงทุนของวิสาหกิจด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเลในเมืองเฉวียนโจว การจัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อสนับสนุนชาวประมงในการปรับรูปแบบและวิธีการเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศ เช่น การเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อมาตรฐาน (รัฐให้เงินอุดหนุน 2,500 หยวนต่อ 667 ตารางเมตร) การเลี้ยงสัตว์น้ำควบคู่กับการปลูกข้าวและบัวแบบบูรณาการ (รัฐให้เงินอุดหนุน 4,000 หยวนต่อ 667 ตารางเมตร) การเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยระบบหมุนเวียน (รัฐให้เงินอุดหนุน 600 หยวนต่อตารางเมตร) การเลี้ยงสัตว์น้ำควบคู่กับการเพาะพันธุ์หอยเชลล์และสาหร่าย (รัฐอุดหนุน 170 หยวนต่อตารางเมตร) และการเพาะเลี้ยงในทะเลน้ำลึก (รัฐอุดหนุน 100,000 – 400,000 หยวนต่อรอบ)
(3) การส่งเสริมการประมงนอกชายฝั่ง ส่งเสริมการทำประมงนอกชายฝั่งในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งส่งเสริมรูปแบบการดำเนินธุรกิจประมงอย่างครบวงจรครอบคลุมตั้งแต่การทำประมง การแปรรูปสัตว์น้ำ และการขนส่ง
(4) การส่งเสริมการประมงควบคู่กับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การสนับสนุนอำเภอริมฝั่งทะเลในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่นันทนาการ อาทิ สถานที่ตกปลา สถานที่แสดงวัฒนธรรมและองค์ความรู้ด้านการประมง เป็นต้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชาวประมงท้องถิ่น
และ (5) การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการวิจัยและพัฒนา อาทิ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเลของเมืองเฉวียนโจว สถาบัน Third Institute of Oceanography ทบวงกิจการทางมหาสมุทรแห่งชาติจีน และมหาวิทยาลัย Ocean University of China เมืองชิงต่าว ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพทางทะเล อาทิ ฟิล์มบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากสารสกัดจากสาหร่าย ซึ่งสามารถรับประทานและละลายในน้ำได้
นอกจากนั้น รัฐบาลเฉวียนโจวยังส่งเสริมความร่วมมือกับ Third Institute of Oceanography ทบวงกิจการทางมหาสมุทรแห่งชาติจีน เพื่อจัดทำระบบเตือนภัยและติดตามอุบัติภัยฉุกเฉินทางทะเลที่เกิดจากสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น การรั่วไหลของน้ำมันสู่ทะเลและสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศทางทะเล
การแก้ไขปัญหาขยะทะเลจากเรือประมง
นอกจากนี้ รัฐบาลเฉวียนโจวยังมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะทะเลจากเรือประมง โดยมุ่งดำเนินการ ดังนี้ (1) การสร้างความตระหนักรู้ถึงบทบาทของชาวประมงในการจัดการกับปัญหาขยะทางทะเลมากยิ่งขึ้น โดยให้เรือประมงเพิ่มความเคร่งครัดในการจัดการกับขยะบนเรือ และมีการแจกถังขยะสำหรับเรือประมงเพื่อแยกขยะบนเรือและจัดเก็บขยะทะเล เช่น เซลล์แบบเตอรี่แห้ง ขวดพลาสติก อุปกรณ์ตกปลาที่ถูกทิ้ง ลวดเหล็กและแผ่นไม้อีกด้วย
(2) เร่งขยายการก่อสร้างสถานีเก็บขยะประมงที่ท่าเรือประมงที่มีปริมาณขนส่งสินค้ามากกว่า 20,000 ตันต่อปีทุกแห่งภายในเขตเฟิงจื่อ โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2566
(3) เร่งส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างสถานีเก็บขยะจากเรือประมงกับการขนส่งขยะสาธารณะจากในเมือง
และ (4) การพัฒนาอุตสาหกรรมการรีไซเคิลเครื่องมือประมงที่ไม่ใช้งานแล้ว อาทิ อุปกรณ์ตกปลา
ทั้งนี้ รัฐบาลเฉวียนโจวได้จัดสรรงบประมาณในการรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเลตามสภาพปริมาณของขยะทะเลในแต่ละพื้นที่
โดยตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน เมืองเฉวียนโจวได้ใช้เงินงบประมาณสำหรับดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะทะเลแล้วรวมกว่า 100 ล้านหยวน
รัฐบาลเฉวียนโจวได้ดำเนินการยกระดับการประมงและการเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งสนับสนุนการทำประมงรูปแบบผสมผสาน ปรับเปลี่ยนเครื่องมือการเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล ตลอดจนส่งเสริมบทบาทของชาวประมงท้องถิ่นในการจัดการปัญหาขยะทะเล
ขณะที่ไทยก็มุ่งขับเคลื่อนการทำประมงอย่างยั่งยืนตามแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) โดยเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับห่วงโซ่อุปทานด้านการประมงทั้งระบบ ครอบคลุมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการประมงจากการจับและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้นผ่านการแปรรูป การเก็บรักษาคุณภาพหลังการจับสัตว์น้ำรวมถึงการขนส่งผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีประสิทธิภาพสูง
ดังนั้น ไทยจึงควรจับตามองและติดตามแนวทางการส่งเสริมการประมงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเมืองเฉวียนโจวที่มีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการประมง เพื่อศึกษาและปรับใช้ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาการประมงคุณภาพสูง รวมถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งของไทยอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ที่มา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง