เครือซีพี โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ผนึกกำลังกลุ่มธุรกิจในเครือฯ บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) เข้ารับซื้อผลิตผลทางการเกษตร “ฟักทอง” ในโมเดล เกษตรมูลค่าสูง จากโครงการ “อมก๋อย โมเดล” ในพื้นที่บ้านผีปานเหนือ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยเป็นกระบวนการรับซื้อโดยตรงจากเกษตรกร เพื่อเพิ่มช่องทางด้านการตลาดและสร้างรายได้ที่เป็นธรรมและมั่นคงให้กับกลุ่มเกษตรกรในโครงการฯ
โดยในครั้งนี้เป็นผลผลิตล็อตแรกจากเกษตรกรรุ่นที่ 1-2 มีจำนวนรวม 7.73 ตัน ใน 5 ไร่ สามารถสร้างรายได้กว่า 110,000 บาท ส่งจำหน่ายที่ ศูนย์กระจายสินค้าโลตัส เขตภาคกลาง
นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์และผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหารหรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า สำหรับโมเดลเกษตรมูลค่าสูง เป็นยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนให้เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็ง ผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้การดำเนินงานโครงการ “อมก๋อย โมเดล” สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ”
นอกจากนี้ยังสนับสนุนต่อยอดให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรนำไปสู่ กิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ให้มีความยั่งยืนในด้านการดำเนินธุรกิจสามารถมีรายได้ที่มั่นคงและยังคืนผลประโยชน์นั้นให้แก่สังคม และชุมชน
โดยการดำเนินงานดังกล่าวฯ เครือซีพี ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจโลตัสส์ ในการลงพื้นที่ให้คำแนะนำการผลิตเกษตรมูลค่าสูง ดูความพร้อมของเกษตรกร จุดรวบร่วมคัดบรรจุผลผลิตทางการเกษตร การรับซื้อและจัดการผลผลิตที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มองค์ความรู้และสร้างรายได้ที่เป็นธรรมแก่เกษตรกร
สำหรับผลผลิต “ฟักทอง” เป็นการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม หรือ Good Agriculture Practices (GAP) ตรงตามมาตรฐานที่โลตัสส์กำหนด ทั้งขนาด น้ำหนัก สีผิว รวมทั้งเนื้อฟักทองสีสวย นอกจากนี้ ในเดือนกันยายน 2565 จะมีผลผลิตจากรุ่นที่ 3-4 อีกกว่า 16 ตัน ซึ่งสามารถสร้างรายได้เพิ่มอีกกว่า 144,000 บาท
ทั้งนี้ โครงการ “อมก๋อย โมเดล” สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ” ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิฯ ยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนโครงการ เพื่อฟื้นฟู รักษาป่าต้นน้ำในพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อพัฒนาผลผลิตและเพิ่มรายได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน