คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผล ดีอีเอส หนุนโครงการพัฒนาฟาร์มโคนมคุณภาพสูงในสระบุรี เป็นต้นแบบ ลดความเหลื่อมล้ำเกษตรกรไทย

.นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ประธานกรรมการตรวจสอบและประเมินผลประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ค.ต.ป.ดศ.) เป็นประธานการประชุม ค.ต.ป.ดศ. ครั้งที่ 8/2565 พร้อมนำคณะกรรมการฯ ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานโครงการตามประเด็นการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปี 2565 ในพื้นที่จังหวัดสระบุรีและจังหวัดนครราชสีมา

.

ในระหว่างลงพื้นที่ได้มีการประชุมร่วมกับหัวหน้าหน่วยงานสังกัดกระทรวงฯ ได้แก่ สำนักงานสถิติจังหวัดนครราชสีมา สถานีอุตุนิยมวิทยานครราชสีมา สำนักงานไปรษณีย์เขต 3 นครราชสีมา สำนักงานบริการลูกค้า บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ จังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สาขาภาคอีสานตอนล่าง) เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการฯ ตามประเด็นการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปี 2565 และโครงการอื่นที่สำคัญของกระทรวงดิจิทัลฯ รวมทั้งรับฟังปัญหา/อุปสรรคในการดำเนินงานโครงการสำคัญต่าง ๆ

.

mission
โครงการพัฒนาฟาร์มโคนมคุณภาพสูงเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

จากนั้นคณะฯ เดินทางตรวจเยี่ยม โครงการพัฒนาฟาร์มโคนมคุณภาพสูงเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน (การประยุกต์ใช้ระบบ Zyan Dairy) ณ บริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจ เพื่อสังคม จำกัด อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ซึ่งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด./ดีป้า) ให้การส่งเสริมสนับสนุนการใช้ระบบซอฟต์แวร์เป็นระบบหลักในการสร้างระบบ Big Data ในกิจการโคนม เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโคนมในฟาร์ม ข้อมูลปริมาณและคุณภาพนมจากศูนย์รับน้ำนม เป็นช่องทางให้เกษตรกรกรอกข้อมูลเกี่ยวกับโค ฟาร์ม ประกอบด้วย 2 ระบบ คือ ระบบบริหารการจัดการฟาร์ม (Zyan Dairy) และระบบจัดการศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ (Zyan MCC)

การใช้ระบบดังกล่าวสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน ลดความสูญเสียจากข้อมูลที่ผิดพลาด เพิ่มราคาน้ำนมดิบขึ้นอีกจากมาตรฐานคุณภาพ และช่วยประหยัดกระดาษที่ต้องใช้ในการเขียนบิลปริมาณน้ำนมดิบให้แก่เกษตรกร รวมทั้งลดความผิดพลาดจากการเขียนบิล ลดการทุจริตในการบวกเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบที่ไม่เป็นจริง สามารถดูข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันเซียนแดรี่ฟาร์มของเกษตรกรทั้งรายวันและข้อมูลสถิติการส่งน้ำนมดิบรายเดือน/รายปีแบบย้อนหลังได้ด้วย

.

ทั้งนี้ ค.ต.ป.ดศ. เห็นว่า โครงการพัฒนาฟาร์มโคนมคุณภาพสูงเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เป็นระบบครบวงจร มีความเข้มแข็งจากกลุ่มเกษตรกรรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เป็นต้นแบบโครงสร้างเกษตรกรในประเทศ รวมทั้งควรนำเสนอภาพความสำเร็จนี้ให้ผู้กำหนดนโยบายในระดับประเทศได้รับทราบ โดยการจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ ควรมีการกำหนด Key Success ให้ชัดเจน ระบุถึงปัญหา/อุปสรรค ข้อเสนอแนะ และแนวทางที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดขยายผลในระยะต่อไปด้วย

บริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจ เพื่อสังคม จำกัด เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโคนม เป็นโรงงานผลิตนม แต่พยายามที่จะปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตนมของเกษตรกรให้เป็นโคนมอินทรีย์ เป็นน้ำนมออร์แกนิค ในกระบวนการทำน้ำนมให้เป็นนมออร์แกนิค ผู้ที่จะได้ประโยชน์ทางตรง คือ ผู้บริโภค เพราะน้ำนมที่ถูกผลิตในกระบวนการที่ถูกต้อง กระบวนการที่เป็นธรรมชาติ โดยธรรมชาติของวัว จะผลิตน้ำนมออกมาจากสารอาหารที่เป็นธรรมชาติของเขา เช่น ผลิตจากหญ้า อาหารที่เป็นธรรมชาติ ดังนั้น คุณประโยชน์ที่ได้จากนมออร์แกนิคก็จะมีโปรตีนที่ดี มีกรดไขมันที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย มีคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เหมาะสม คือสิ่งที่ผู้บริโภคจะได้รับ

ทุกฟาร์มที่เปลี่ยนไปเป็นเกษตรอินทรีย์หรือเป็นออร์แกนิค จะช่วยลดภาระต่อสิ่งแวดล้อมในแง่ต่าง ๆ ได้ทันที เช่น หมดปัญหาเรื่องสารตกค้างจากปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าวัชพืช ที่เคยปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ในดิน ในอากาศ เพราะว่าห้ามไม่ให้ใช้ สารเคมีเหล่านี้เป็นของต้องห้ามในฟาร์มเกษตรอินทรีย์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เมื่อเกษตรกรปฏิบัติตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ครบถ้วน ระบบนิเวศในป่าก็จะกลับคืนสู่สภาพที่สมดุล