นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัย ได้สั่งการให้กรมชลประทาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเข้าให้การช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด อาทิ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานชลประทานที่ 6 ร่วมกับจังหวัดร้อยเอ็ด ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าช่วยชาวบ้านซ่อมแซมพนังกั้นน้ำ ถมปิดบริเวณทำนบดิน เพื่อชะลอความแรงของน้ำ หลังเกิดการกัดเซาะบริเวณปากท่อด้านลำเสียวใหญ่ ต.กู่กาสิงห์ อ.เกษตรวิสัย ขนาดกว้างประมาณ 4 – 5 เมตร ยาวประมาณ 10 เมตร จนแล้วเสร็จ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ที่จังหวัดสุโขทัย สำนักงานชลประทานที่ 4 ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 12 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง ที่บริเวณบ้านจอมสังข์ หมู่ที่ 3 ต.ปากพระ อ.เมืองสุโขทัย เพื่อเร่งสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมขัง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน และให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
ด้านจังหวัดปราจีนบุรี สำนักงานชลประทานที่ 9 ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 8 เครื่อง บริเวณสะพานต้นแม่น้ำบางปะกง ต.กบินทร์บุรี อ.กบินทร์บุรี เร่งระบายน้ำในแม่น้ำบางปะกง
นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ ที่บริเวณสะพานปลายคลองท่าลาด อ.พนมสารคาม สะพานหัวไทร อ.บางคล้า และคลองบางกระเจ็ด อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา รวมจำนวน 12 เครื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดผลกระทบปัจจัยเสี่ยงสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่
ส่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีน ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำท่าจีน 8 จุด ได้แก่ สะพานวัดบางไผ่นารถ สะพานวัดสำโรง สะพานรวมเมฆ สะพานทรงคนอง สะพานโพธิ์แก้ว ประตูระบายน้ำเภาทะลาย ประตูระบายน้ำสองพี่น้องและสะพานวัดท่าเจดีย์ รวมจำนวน 87 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำท่าจีนออกสู่อ่าวไทย ช่วยลดปริมาณน้ำในพื้นที่ตอนบน
นอกจากนี้ ยังได้วางแผนรับมือสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี ด้วยการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 7 จุด รวม 50 เครื่อง ปัจจุบัน ดำเนินการติดตั้งแล้ว 2 จุด ได้แก่ บริเวณเขื่อนร้อยเอ็ด 30 เครื่อง และบริเวณสะพานบ้านค้อเหนือนางาน (ลำน้ำยัง) 15 เครื่อง รวม 45 เครื่อง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 56 จุด รวม 102 เครื่อง ปัจจุบันติดตั้งแล้ว 24 จุด รวม 45 เครื่อง พร้อมกันนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ ที่บริเวณสะพานมูล (หน้าแก่งสะพือ) อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี อีกจำนวน 100 เครื่อง เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูล อีกด้วย
ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวังสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ หมั่นตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรเครื่องมือไว้คอยช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
ที่สำคัญให้ปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝนที่กองอำนวยการชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด รวมทั้งประสานหน่วยงานระดับจังหวัด ทำการแจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน