สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงาน ภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 2 ปี 2565 โดยนำเสนอบทความ “วิกฤตความมั่นคงทางด้านอาหาร : มาตรการและแนวทางยกระดับให้ไทยมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน” พบข้อมูลน่าสนใจ ไทยนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตอาหารหลายประเภทคิดเป็นมูลค่าสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นซึ่งหากมีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบดังกล่าว อาจกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของไทย
โดยไทยนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตอาหาร อาทิ ปุ๋ย สารอันตรายทางการเกษตร รวมทั้งวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ คิดเป็นมูลค่าสูง โดยในปี 2564 ไทยนำเข้าปุ๋ยคิดเป็นมูลค่า 70,102 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.27 จากปี 2563 ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพียง 46,341 ล้านบาท ขณะที่สารอันตรายทางการเกษตร ไทยมีมูลค่านำเข้าจำนวน 25,263 ล้านบาท และ วัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ที่สำ คัญ อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีการนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 8,686 ล้านบาท ในปี 2563 ข้าวสาลีอาหารสัตว์ นำเข้ามูลค่า 13,644 ล้านบาท
ขณะที่แรงงานภาคเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเกษตรกรมีอายุมากขึ้นซึ่งส่งผลต่อผลิตภาพการผลิตในภาคเกษตรกรรม โดยในปี 2533 แรงงานภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนถึงร้อยละ 63.3 ของแรงงานทั้งประเทศ สัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจนปี 2564 เหลือเพียงร้อยละ 31.85
ขณะที่เมื่อพิจารณาอายุของแรงงานเกษตรตั้งแต่40 ปีขึ้นไป พบว่าปี2564 มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 73.0 และมี
แนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังพบว่าผลิตภาพแรงงานในภาคเกษตรอยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอด
แนวโน้มดังกล่าวส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานและปริมาณการผลิตซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงด้านอาหาร
ในอนาคตหากไม่มีมาตรการหรือการบริหารจัดการที่เหมาะสม
การใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรกรรมยังมีน้อย นอกจากผลิตภาพแรงงานในภาคเกษตรกรรมจะต่ำแล้ว เกษตรกรไทยยังมีการนำเทคโนโลยีไปใช้น้อย จากข้อมูลผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรกรรมไทย ปี 2564 พบว่า ร้อยละ 86.1 ของเกษตรกรไทยยังใช้เทคโนโลยีเกษตรกรรมแบบ 1.0 – 2.0 โดยเป็นเกษตรแบบดั้งเดิมที่ใช้พื้นที่เพาะปลูกน้อยและใช้แรงงานคนเป็นหลักหรือเกษตรกรรม 1.0 มีสัดส่วนถึงร้อยละ 47.6 ขณะที่ เกษตรกรรม 2.0 ที่เริ่มใช้เครื่องจักรเบาในการทำงานแทนแรงงาน เช่น เครื่องสูบน้ำรถแทรกเตอร์ มีสัดส่วนร้อยละ 38.5
การเข้าถึงอาหาร(Food Access) หมายถึง การเข้าถึงทรัพยากรให้ได้มาซึ่งอาหารที่มีคุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งนี้สถานการณ์การเข้าถึงอาหารสะท้อนได้จากปัญหาความหิวโหย
โดยในปี 2021 รายงาน The Global Hunger Index (GHI) พบว่า ประเทศไทยมีระดับความหิวโหย โดยรวมอยู่ในระดับปานกลางโดยอยู่ในลำดับที่ 53 จากทั้งหมด 116 ประเทศ ขณะที่สัดส่วนประชากรขาดแคลนสารอาหารต่อจำนวนประชากรทั้งหมด(Prevalence of Undernourishment: PoU) ในปี 2563 ของ FAO ที่ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่แต่ละประเทศจะเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร ได้พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วน PoU อยู่ที่ร้อยละ 8.8 ของประชากรทั้งหมด หรือมีจำนวนผู้ขาดสารอาหาร 6.2 ล้านคน
ทั้งนี้การไม่สามารถเข้าถึงอาหารมีสาเหตุมาจาก ครัวเรือนรายได้น้อยยังมีปัญหาการเข้าถึงอาหาร แม้ว่าข้อมูล GFSI ในปี 2021 จะระบุว่า ผลการประเมินองค์ประกอบด้านความสามารถในการหาซื้ออาหาร (Affordability) ของไทย จะมีค่าคะแนน 81.8 ซึ่งอยู่ในระดับที่ดี อย่างไรก็ตาม พบว่า ข้อมูลดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับสัดส่วนประชากรที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจนด้านอาหาร (Food Poverty Line) ซึ่งชี้ให้เห็นถึงจำนวนคนไทยที่มีการบริโภคไม่เพียงพอต่อความต้องการสารอาหารต่อวันที่มีสัดส่วนประชากรภายใต้เส้นร้อยละ 0.38 ในปี 2563 หรือมีคนไทยที่มีการบริโภคไม่เพียงพอกับความต้องการสารอาหารจำนวน 2.6 แสนคน โดยอยู่ในเขตชนบทสูงกว่าในเมือง นอกจากนี้งานศึกษาหลายชิ้น พบว่า ปัญหาความมั่นคงด้านอาหารกระจุกตัวอยู่ในเขตชนบทในแถบแห้งแล้งกันดารและห่างไกลการคมนาคม
ขณะที่ ครัวเรือนเกษตรกรมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงอาหารทั้งที่เป็นกำลังหลักในการผลิตอาหารที่สำคัญ โดยแนวโน้มการพึ่งพาตนเองในเรื่องอาหารของครัวเรือนเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตอาหารกำลังลดลงทุกขณะ สะท้อนว่า แม้โดยรวมระดับรายได้ของคนในประเทศส่วนใหญ่เพียงพอต่อการใช้จ่ายเพื่อบริโภคอาหาร แต่การเข้าถึงอาหารในกลุ่มเปราะบางยังจำเป็นต้องสร้างมาตรการเพื่อรับมือความไม่มั่นคงทางอาหารของกลุ่มดังกล่าว