แปลงเกษตรผสมผสานที่ศูนย์การเรียนรู้บ้านผาหมี โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่อง “เกษตรดิจิทัล” ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และภาคีเครือข่ายหลากหลาย ได้แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด นำเทคโนโลยี 5G มาทดลองต่อยอดการพัฒนาด้านการเกษตร
โดยเน้นกระบวนการปลูกและดูแลพืช เพื่อหาวิธีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในพื้นที่ห่างไกลและขยายในระดับชุมชน อันจะเอื้อให้เกษตรกรไทยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ดึงดูดให้คนรุ่นใหม่สนใจการเกษตรอันเป็นอาชีพพื้นฐานของไทยมากขึ้น และช่วยให้เกษตรกรไทยคาดการณ์ผลผลิตได้แม่นยำมากขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์การเรียนรู้บ้านผาหมี จะนำข้อมูลมาประเมิน วิเคราะห์ และรายงานผลการเพิ่มผลผลิต และการดูแลต้น สรุปเป็นองค์ความรู้พร้อมใช้ เพื่อถ่ายทอดไปยังเกษตรกรและชุมชนต่อไป
ใน ศูนย์การเรียนรู้บ้านผาหมี ได้ติดตั้งอุปกรณ์ที่ช่วยเก็บข้อมูลปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช โดยใช้เครื่องมือที่หลากหลาย เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานและข้อมูลที่ต้องการตลอดการเติบโตของพืช เช่น เสาสัญญาณ 5G ที่ช่วยรับและกระจายสัญญาณในแปลง เครื่องส่งสัญญาณที่ติดอยู่ในบริเวณต่าง ๆ เพื่อตรวจจับความชื้นภายในวัสดุปลูก ปุ๋ย และในอากาศ อุณหภูมิ ความเข้นข้นของปุ๋ยและความเข้มแสง ระบบน้ำหยดที่อาศัยข้อมูลจากการตรวจจับความชื้น หากความชื้นน้อย ก็สามารถเปิดระบบน้ำ หรือตั้งระบบให้รดน้ำตามเวลา ตู้ควบคุมระบบน้ำ เครื่องวัดปริมาณน้ำในถังเก็บน้ำ รวมถึงการบันทึกการเจริญเติบโตและวัดผลผลิตรายต้น เพื่อให้ทราบปัจจัยที่ส่งผลต่อผลผลิตของพืช
การเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยีทำให้ข้อมูลเกิดความแม่นยำ สม่ำเสมอมากขึ้น ช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน ลดจำนวนการใช้แรงงานในแปลง อีกทั้งยังช่วยให้สามารถกำกับดูแลการทำงานได้แม้ไม่ได้อยู่ในแปลง ช่วยให้การบริหารจัดการแปลงมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดความเสี่ยงของเกษตรกรในอีกทางหนึ่ง
สิ่งสำคัญของการนำเทคโนโลยีไปใช้ในการเกษตรระดับชุมชน คือ การทำให้แน่ใจว่า เทคโนโลยีนั้น ๆ สามารถใช้งานได้จริง ไม่ซับซ้อนจนเกินไป สามารถเป็นสื่อกลางที่เข้าใจได้ง่ายกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งเกษตรกรผู้ปลูก ผู้ดูแล ผู้ตรวจสอบข้อมูล และผู้ออกแบบระบบ นั่นคือ เทคโนโลยีต้อง “simple, practical, logical” หรือ “เรียบง่าย ใช้ได้จริง เป็นเหตุเป็นผล” อันเป็นแนวพระราชดำริของสมเด็จย่าและแกนหลักในการดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เสมอมา
การนำกระบวนการ Digital Transformation เข้ามาปรับใช้กับอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อเปลี่ยนให้เป็น “เกษตรดิจิทัล” กำลังเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เมื่อมองในภาพใหญ่มีการคาดการณ์ไว้ว่าเมื่อถึงปี ค.ศ. 2050 ประชากรโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 9.7 พันล้านคน จำนวนประชากรโลกที่มากขึ้นย่อมทำให้ความต้องการอาหารและที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อมองภาพเล็กลงมาในระดับสังคมก็จะเห็นว่าทั่วโลกและประเทศไทยเองมีแนวโน้มที่สังคมเมืองจะขยายตัวมากขึ้น นั่นทำให้พื้นที่ทางการเกษตรมีจำนวนลดลงไปพร้อม ๆ กับการลดลงของจำนวนผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร อีกทั้งวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปัจจัยด้านต้นทุนในการดูแลพืชก็เพิ่มสูงขึ้น “เกษตรดิจิทัล ” จึงเข้ามาตอบโจทย์เหล่านี้