มีการจำแนกประเภทระบบเกษตรและระบบการปลูกพืช ไว้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งจะนำมาเสนอพอได้เข้าใจแบบสั้น ๆ ดังนี้
1.การเกษตรแบบประณีต (Intensive farming) ประณีต หมายถึงละเอียดลออ, เรียบร้อยงดงาม เช่น ทําอย่างประณีตทำอย่างสุดฝีมือด้วยของดี ๆ
การเกษตรแบบประณีต จึงเป็นการทำเกษตรที่เกษตรกรตั้งใจทำอย่างอย่างละเอียดลออ มีการเอาใจใส่ ใช้ความรู้ใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างเข้มข้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และนำไปสู่ความยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่มักเป็นการดำเนินการภายในพื้นที่ที่ขนาดเล็กซึ่งเหมาะสมกับขนาดทรัพยากรโดยเฉพาะแรงงานสามารถดูแลจัดการได้ทั่วถึง
2. เกษตรธรรมชาติ (Natural Farming) คือ การทำเกษตรโดยไม่ไถพรวนดิน ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี ไม่กำจัดวัชพืช ใช้การคลุมดิน ใช้พลังจากสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติ และให้ความสำคัญกับดินเป็นอันดับแรก นำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป้าหมายของเกษตรธรรมชาติ ปรับปรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ และจัดระบบนิเวศให้เกื้อกูลกัน ผลิตอาหารที่มีรสชาติตามธรรมชาติและไม่มีสารพิษ ผู้ผลิตและผู้บริโภคปลอดภัยจากสารพิษจากกระบวนการผลิต
3. เกษตรอินทรีย์ (Organic Farming) สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements) หรือ IFOM ได้ให้ความหมายของเกษตรอินทรีย์ไว้ว่า เป็นระบบเกษตรที่ผลิตอาหารและเส้นใยด้วยความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยเน้นที่หลักการปรับปรุงบำรุงดิน การเคารพต่อศักยภาพทางธรรมชาติของพืช สัตว์ และนิเวศการเกษตร เกษตรอินทรีย์จึงลดการใช้ปัจจัยจากภายนอก และหลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ เช่น ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช และเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามประยุกต์ใช้ธรรมชาติในการเพิ่มผลผลิต และพัฒนาความต้านทานต่อโรคของพืชและสัตว์เลี้ยง
หลักการทำเกษตรอินทรีย์ คือ ให้ความสำคัญกับการป้องกันการสูญเสียธาตุอาหาร การคลุมดิน การสร้างความหลากหลายที่สัมพันธ์กันอย่างสมดุลในระบบนิเวศ โดยการปลูกพืชร่วมกันหลายชนิดในเวลาเดียวกัน หรือเหลื่อมเวลากัน การปลูกพืชหมุนเวียน รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์
4.เกษตรยั่งยืน (Sustainable Agriculture) เป็นแนวทางการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรที่สัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตของเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม มีรูปแบบการทำการเกษตรที่สอดคล้องกับระบบนิเวศ มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ เป็นธรรมทางสังคม มีมนุษยธรรม และระบบเกษตรกรรมยั่งยืนจะเป็นระบบการเกษตรที่รักษาอัตราการผลิตพืชและสัตว์ให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายในระยะยาวติดต่อกันภายใต้สภาพแวดล้อมที่เลวร้ายหรือไม่เหมาะสม
การทำเกษตรกรรมยั่งยืนจึงไม่ได้หมายความเพียงการปรับเปลี่ยนเทคนิควิธีการทำการเกษตร หากยังหมายรวมถึงการสอนให้มีการปรับเปลี่ยนคุณค่าและกฎเกณฑ์การใช้ชีวิตไปในเวลาเดียวกัน ในระบบเกษตรยั่งยืนเป็นการทำการเกษตรแบบผสมผสานที่มีทั้งการปลูกพืช และการเลี้ยงสัตว์หลายชนิดที่ผสมกันและมีความเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างลงตัว
5.เกษตรผสมผสาน (Integrated Farming) เป็นรูปแบบการทำเกษตรที่มีกิจกรรมตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป ในช่วงเวลาและพื้นที่เดียวกัน เช่น การปลูกพืชและมีการเลี้ยงสัตว์หลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน มีการเกื้อกูลกันอย่างต่อเนื่องระหว่างกิจกรรม เป็นวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างเหมาะสมเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“การทำเกษตรผสมผสาน” มีความแตกต่างจากการทำ “ไร่นาสวนผสม” (Mixed Farming) ที่มีกิจกรรมการผลิตหลายๆ อย่างเพื่อลดความเสี่ยงจากราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอนเป็นหลัก
6.เกษตรทฤษฎีใหม่ (New Theory Agriculture) มาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงคิด และคำนวณตามหลักวิชา ถึงวิธีการบริหารทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนสภาพทางสังคมของชุมชนนั้นๆ ซึ่งมีหลักการ แบ่งพื้นที่การเกษตรออกเป็นส่วนๆ ได้แก่ ให้มีแหล่งน้ำในไร่นา เพื่อใช้ในการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ประมง ประมาณ 30% ของพื้นที่ ให้มีพื้นที่ทำนาปลูกข้าวในฤดูฝนไว้บริโภค ให้พอเพียงตลอดปีประมาณ 30% ของพื้นที่ ให้มีพื้นที่เพื่อการเพราะปลูกพืชไร่ พืชผัก ไม้ผล พืชสมุนไพรประมาณ 30% ของพื้นที่ให้มีพื้นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่นๆประมาณ 10% ของพื้นที่
7.วนเกษตร (Agro Forestry) คือ การทำเกษตรที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างผสมผสานระหว่างกิจกรรมการเกษตร การป่าไม้ รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่เดียวกันหรือสลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป โดยเป็นกิจกรรมที่มีความสอดคล้อง และเกื้อกูลกับระบบนิเวศน์ ป่าไม้ในท้องถิ่น เป็นการทำเกษตรร่วมกันกับการอนุรักษ์ป่าไม้ ระบบวนเกษตรสามารถแยกออกเป็น 4 รูปแบบองค์ประกอบของกิจกรรมหลักได้แก่
1.ระบบป่าไม้ร่วมกับการปลูกพืชเกษตร
2.ระบบป่าไม้ร่วมกับการทำปศุสัตว์
3.ระบบเกษตรป่าไม้และปศุสัตว์
4.ระบบป่าไม้ร่วมกับการทำประมง
8.การจัดระบบการปลูกพืช
8.1 การปลูกพืชเชิงเดี่ยว (Mono cropping) เป็นการปลูกพืชชนิดเดียวกันติดต่อกันในพื้นที่เดียวกัน เช่น ปลูก ข้าวนาปี นาปรัง หมุนเวียนตลอดปี เป็นต้น
8.2การปลูกพืชหมุนเวียน (Crop Rotation) การปลูกพืชสองชนิดหรือมากกว่าลงบนพื้นที่เดียวกัน แต่ว่าจะปลูกไม่พร้อมกัน มีการจัดลำดับพืชที่ปลูกก่อนและปลูกหลังอย่างเหมาะสม การปลูกพืชหมุนเวียน ปลูกต่างชนิดติดต่อกันในพื้นที่เดียวกัน เช่น ปลูกข้าวโพด 1 ฤดู และตามด้วยการปลูกถั่วในฤดูถัดไปหมุนเวียนกันไป เป็นต้น
8.3การปลูกพืชเหลื่อมฤดู (Relay Cropping) เป็นการจัดระบบพืชโดยการปลูกพืชที่สอง ขณะที่พืชแรกยังไม่ทันได้เก็บเกี่ยว เช่น ระบบการปลูกพืชแบบนี้ ส่วนใหญ่จะปลูกข้าวโพดเหลื่อมกับมันเทศ การปลูกข้าวเหลื่อมกับถั่วเขียวในนาธรรมชาติ เป็นต้น
8.4 การปลูกพืชแซม (Intercropping) คือ การปลูกพืชสองชนิดหรือมากกว่าสองชนิดพร้อมกัน หรือปลูกในเวลาใกล้เคียงกัน แบบแถวสลับแถว วิธีนี้ควรคำนึงถึงความสัมพันธ์ของพืชในเรื่องของระบบราก ความต้องการธาตุอาหาร ศัตรูพืช ความสูง และการเกิดร่มเงาหน้าดินส่วนใหญ่มีพืชคลุม ทำให้ลดการชะล้างพังทลายของดิน น้ำฝน สามารถซึมลงในดินได้มากขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงต่อความเสียหายของพืชหลักเนื่องจากศัตรูพืช เช่น การปลูกถั่วลิสงแซมมันสำปะหลัง การปลูกสับปะรดแซมยางพารา การปลูกถั่วระหว่างแถวข้าวโพด เป็นต้น
8.5 การปลูกพืชแบบผสม (Mixed Cropping) เป็นวิธีการปลูกพืชสองชนิดหรือมากกว่าสองชนิดในแปลงเดียวกัน โดยไม่ต้องปลูกเป็นแถวเป็นแนว เป็นวิธีการปลูกแบบดั้งเดิมของเกษตรกรเมื่อครั้งที่ดินยังอุดมสมบูรณ์อยู่ โดยนำเมล็ดสองชนิดรวมกันหว่านลงในแปลง ให้พืชหลักมีจำนวนมากกว่าพืชรอง พืชปลูกควรมีคุณสมบัติที่เกื้อกูลกัน เช่น ช่วยลดการทำลายของศัตรูพืช ทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น
8.6 การปลูกพืชแบบผสมผสานต่างระดับ (Multi-Storey Cropping) เป็นการปลูกพืชในระบบวนเกษตร คือจะมีไม้ยืนต้นเป็นไม้ใช้สอยหรือไม้ผล โดยให้ลักษณะของพืชที่ปลูกนั้นแบ่งเป็น 3 ระดับขึ้น ตามความสูงและความลึกของราก ชั้นบน (ระดับแรก) จะเป็นพืชที่ต้องการแสงมาก มีพุ่มใบไม่หนาทึบ เช่น มะพร้าว หมาก รองลงมา (ระดับที่สอง) ก็จะเป็นต้นไม้ ที่มีใบพุ่มหนา เช่น มะม่วง รองลงมาอีก (ระดับที่สาม) ก็จะเป็นกล้วย จนถึงพืชผักในระดับผิวดิน และใต้ดิน การปลูกพืชแบบผสมผสานต่างระดับนี้ จะช่วยให้ธาตุอาหารในดินหมุนเวียนและถูกใช้ไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ดินจะถูกปกคลุมตลอดเวลาและได้รับอินทรียวัตถุอย่างสม่ำเสมอ จากใบไม้ที่ร่วงหล่น ลดความแรงของการกระทบโดยตรงของเม็ดฝน เพราะเรือนยอดของต้นไม้และไม้พืชล่างที่ขึ้นคลุมดินอยู่จะช่วยรองรับน้ำฝนเป็นชั้น ๆ โรคและแมลงก็มีน้อยลง ไม่ต้องใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช จึงเป็นวิธีการปรับปรุงดินที่ใช้ทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน
8.7การปลูกพืชพี่เลี้ยง (Nursing Crop) เหมาะสำหรับการฟื้นฟูอนุรักษ์ดินที่ถูกทำลายจนล้านโล่งเตียน วิธีการปลูกคือ นำพืชโตเร็วมาปลูกร่วมกับพืชหลัก เพื่อให้เป็นร่มเงาพืชหลัก ให้ความชุ่มชื้น เป็นที่เกาะยึดและใบช่วยบำรุงดินและช่วยเพิ่มรายได้ในระยะแรก เช่น การปลูกกล้วยร่วมกับไม้ผลที่เพิ่งปลูกใหม่ กล้วยจะช่วยบังร่มเงาให้ความชุ่มชื้นไม้ผลในฤดูแล้ง และยังให้ผล ใบ ปลี ขายเป็นรายได้ในช่วงที่ไม้ผลยังไม่มีผลผลิต
8.8 การปลูกพืชบังลม (Wind Break) โดยการนำไม้ยืนต้นโตเร็ว กิ่งก้านเหนียว แตกทรงพุ่มหนา เช่น ไม้สน ประดิพัทธ์ กระถินณรงค์ สะเดา แคฝรั่ง ปลูกเป็นแนวขวางทิศทางลมในแปลงพืชโดยปลูกเป็นระยะ ๆ ห่างกันพอสมควรขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ แนวพืชที่ปลูกในทิศทางขวางทางลม จะช่วยลดความเสียหายจากการฉีกหักของกิ่งไม้ผลเพราะแรงลมได้ โดยเฉพาะช่วงที่กิ่งกำลังติดผล ช่วยลดความเสียหายจากการล้มต้นของพืชไร่ ลดการคายน้ำและการระเหยของน้ำ ลดปริมาณการใช้น้ำของพืช ลดปริมาณน้ำไหลบ่าหน้าดิน และป้องกันการสูญเสียน้าดินอันเนื่องมาจากลม
8.9การปลูกต้นไม้เป็นแนวกันไฟ (Fire-Break) เหมาะกับพื้นที่เขตภูเขา ซึ่งมีเหตุไฟป่าในฤดูแล้งเป็นประจำ เพื่อป้องกันไฟป่าไม่ให้ลามเข้ามาในแปลง โดยการถางหญ้าทำแนวกันไฟ 1-2 เมตร และปลูกต้นไม้ที่ทนไฟเป็นแนวกันไฟ เช่น ปลูกต้นแคฝรั่ง ซึ่งลำต้นเหนียว และสามารถแตกกิ่งก้านได้ทันทีหลังถูกไฟเผาเป็นแนวกันไฟ
8.10 การปลูกพืชแบบราทูน (Ratoon Cropping) เป็นการปลูกพืชที่จะยืดระยะเวลาของการให้ผลผลิตได้มากกว่า 1 ฤดูกาลโดยไม่ต้องมีการปลูกใหม่ เช่น อ้อย สับปะรด เป็นต้น
8.11 การปลูกพืชแบบตามกัน (Sequential cropping) เป็นการปลูกพืชชนิดหนึ่งในช่วงก่อนหรือหลังอีกชนิดหนึ่ง เช่น ปลูกข้าวโพดในฤดูฝนและปลูกถั่วในฤดูแล้ง ระบบถั่วเขียว-ข้าว เป็นต้น
8.12 การปลูกพืชคลุมดิน (Cover cropping) เป็นการปลูกพืชที่มีรากมาก รากลึก ใบแผ่แน่น และโตเร็ว เช่น หญ้าแฝก ยึดหน้าดินไว้เพื่อป้องกันการชะล้างและช่วยรักษาความชื้น เป็นต้น
8.13การปลูกพืชสลับเป็นแถบ (Strip cropping) คือ การปลูกพืชต่างชนิดกันสลับเป็นแถบตามที่ราบหรือขวางความลาดเทของพื้นที่ที่ลาดชัน เพื่อลดความรุนแรงของการไหลของน้ำ
8.14 การปลูกพืชตามแนวระดับ (Contour cropping) คือการปลูกพืชขวางความลาดเทของพื้นที่ตามเส้นแนวระดับหรือเส้นแนวขอบเนิน เพื่อจะลดความรุนแรงของการไหลของน้ำ การปลูกต้นไม้เป็นแนวระดับขวางทางลาดชัน ในเขตภูเขาหรือที่ที่มีความลาดชัน จะมีการปลูกไม้พุ่มขวางทางลาดชันเป็นแนวระดับ โดยจะปลูกไม้พุ่มให้เป็นแนวชิดติดกันเป็นแถวคู่ ระหว่างแนวระดับก็จะปลูกพืชไร่และต้นไม้ แนวไม้พุ่มจะช่วยดักอินทรียวัตถุและหน้าดินที่ถูกน้ำพัดพาลงมา และช่วยลดการพังทลายของหน้าดินและช่วยตรึงไนโตรเจน เช่น ถั่วมะแฮะ กระถิน เมื่อต้นสูงก็จะตัดกิ่งและใบมาคลุมดิน เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินช่วยรักษาความชุ่มชื้นและช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน
8.15 การปลูกพืชตามขั้นบันได (Terracing) คือ การทำดินเป็นขั้นขวางตามแนวลาดชัน เพื่อเก็บกักน้ำ ลดความเร็วของน้ำ และกักแร่ธาตุที่ถูกชะล้างไว้ให้กับดิน
ข้อมูลจาก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา กรมวิชาการเกษตร