กรมชลประทาน ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงหน่วยงานส่วนกลางและระดับพื้นที่ทั่วประเทศ ขับเคลื่อน 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามนโยบายของรัฐบาล โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)
เช้าวันนี้ (26 ส.ค.65) ที่ห้องประชุม SWOC อาคาร 99ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Video Conference
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมฯ ว่า สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน(26 ส.ค. 65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 48,298 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 27,791 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 13,089 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 11,782 ล้าน ลบ.ม.
ปัจจุบันกรมชลประทานได้ควบคุมการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่สถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ในอัตราประมาณ 1,500 ลบ.ม./วินาที เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล ไว้รองรับปริมาณน้ำเหนือที่จะมาเพิ่มอีกในระยะต่อไป ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานในแต่ละพื้นที่ ร่วมบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเชื่อมโยงข้อมูลนำมาคาดการณ์และวิเคราะห์สภาพอากาศ ปริมาณน้ำในลำน้ำ แหล่งเก็บกักน้ำ พื้นที่น้ำหลาก รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถแบคโฮ และกำลังเจ้าหน้าที่ เพื่อเตรียมความพร้อมและบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤตให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ตลอดจนประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 อย่างเคร่งครัด ตามข้อสั่งการของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)