เกษตรฯเปิดฉากยิ่งใหญ่ เจ้าภาพเอเปค 2022 เปิดแลนด์มาร์ก หัวหินไทยแลนด์ ประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 7
วันนี้ (26 สิงหาคม 2565) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดฉากเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 7 (The Seventh APEC Virtual Food Security Ministerial Meeting) ร่วมกับสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ ณ โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผลักดันประเด็นหลักที่จะช่วยสนับสนุนโยบายครัวไทย สู่ครัวโลก ความปลอดภัยอาหาร การค้าระหว่างประเทศ การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนร่วมกัน ยืนยัน ไทยพร้อมจับมือร่วมเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค เผชิญกับความท้าทายต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการของแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหาร มุ่งสู่ ค.ศ. 2030 ร่วมกันอย่างเข้มแข็ง
โอกาสนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 7 ได้กล่าวต้อนรับคณะรัฐมนตรี และสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ พร้อมกล่าวเปิดการประชุมในครั้งนี้ว่า ประเทศไทย มุ่งหวังที่จะสนับสนุนให้เอเปค มีการเจริญเติบโตในระยะยาว มีภูมิคุ้มกัน มีความครอบคลุม ความสมดุล และความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ.2040 แผนปฏิบัติการเอาเทอรัว รวมถึงหัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย คือ“OPEN, CONNECT, BALANCE” หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” และแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว Bio – Circular – Green Economy หรือ BCG Model
การประชุมระดับรัฐมนตรีความมั่นคงอาหาร นับเป็นกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคที่เข้มแข็ง และสามารถ มีส่วนร่วมสนับสนุนความมั่นคงอาหารให้กับประชาคมโลก ในฐานะผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก ซึ่งจากสถานการณ์ความมั่นคงอาหารในปัจจุบัน องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ รายงานว่า ในปี ค.ศ.2030 ประชาชนประมาณ 670 ล้านคน จะยังคงขาดสารอาหาร นอกจากนี้ ผลกระทบและความตึงเครียดที่เกิดขึ้นต่อระบบอาหารทั่วโลก เช่น วิกฤตด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทำให้เอเปค ต้องปรับบทบาทและแนวทางที่จะเดินไปข้างหน้าร่วมกัน
การประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมได้ออกแถลงการณ์แสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความมั่นคงอาหารในภูมิภาค โดยในแถลงการณ์ได้ผลักดันนโยบายสำคัญ 5 ด้านประกอบด้วย
1) การสนับสนุนความปลอดภัยอาหารและการอำนวยความสะดวกทางการค้า
2) การปรับปรุงการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี
3) การส่งเสริมความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ
4) การส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีในภาคเกษตรอาหาร
5) การสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ภาคเอกชน นับได้ว่ามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการร่วมเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค ประจำปี 2565 ได้ให้คำแนะนำที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหาร มุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 ได้แก่ การสนับสนุนการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัล การประสานงานกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร การส่งเสริมการลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีสำหรับการเกษตรและการค้าอาหาร และการนำโมเดล BCG มาปรับใช้ ทั้งนี้ เชื่อมั่นได้ว่า ร่างปฏิญญาความมั่นคงอาหารเอเปค จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นของคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารของไทย รวมถึงการสนับสนุนระบบการค้าแบบพหุภาคี จะทำให้เกิดการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น
พร้อมกันนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย ยังผลักดันการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารเอเปค ผ่านการขับเคลื่อนนโยบาย 3S ทั้งเรื่อง Safety Security และSustainability ส่งเสริมความปลอดภัยอาหารให้ได้มาตรฐานสากล ถูกหลักโภชนาการ รวมถึงส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมที่เชื่อมโยงการพัฒนาฐานข้อมูลด้วยระบบ Big Data ด้านดิน น้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาดของพืชและสัตว์ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ขับเคลื่อนภาคเกษตร ด้วย BCG Model
และที่สำคัญ ในปี 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วางนโยบายเสริมสร้างบทบาทสตรี ให้เป็นกำลังหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยใช้แผนขับเคลื่อนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง ให้เป็น Smart group เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก นอกจากนี้ ยังเน้นการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านการเกษตรให้มีความทันสมัย สามารถวิเคราะห์และวางแผนการผลิต รวมถึงการเข้าถึงตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ส่งเสริมและพัฒนากระบวนการผลิตและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาด ตลอดจนส่งเสริมความมั่นคงอาหารในครัวเรือนและชุมชน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังให้ความสำคัญด้านการพัฒนากำลังคนภาคเกษตร และการทำงานด้วยเช่นกัน รวมถึงสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมเกษตร และยกระดับความร่วมมือเครือข่ายการพัฒนาภาคการเกษตรจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะด้านนโยบายความยั่งยืนในระบบอาหารสัมพันธ์กับปัจจัยการผลิต ทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศ ซึ่งหัวใจสำคัญในการผลักดันความยั่งยืน คือ การบริหารจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการสูญเสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน และลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการดิน การบริหารจัดการพันธุ์พืช ตลอดจนการทำเกษตรโดยใช้ตลาดนำการผลิต
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานหุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านความมั่นคงอาหาร ประจำปี 2022 เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และกรมประมง ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบเอเปค มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์2565 ซึ่งถือเป็นการเปิดฉากการประชุมเอเปคพร้อมกันทั้งประเทศ ในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค และได้มีการจัดการประชุมที่เกี่ยวข้องอีก 12 การประชุมเรื่อยมา แน่นอนว่า การประชุมรัฐมนตรีของเขตเศรษฐกิจร่วมกันครั้งนี้ เป็นการแสดงวิสัยทัศน์และแนวนโยบายในการผลักดันความมั่นคงทางอาหาร ซึ่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มุ่งเน้นนโยบาย BCG และ3S รวมถึงนโยบายต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า สินค้าเกษตรและอาหารไทย ที่มีผลผลิตที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพมาตรฐาน พร้อมเป็นครัวให้กับประชากรในภูมิภาคเอเปคและครัวโลก
สำหรับความมั่นคงอาหารในประเทศไทย มีการวางแผนเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงอาหารทั้งระบบ โดยผ่านกลไกคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. ได้จัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด (Provincial Crop Calendar) ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกันทั้งระบบ (BIG DATA) เพื่อคาดการณ์ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรแบบรายชนิดสินค้า ที่จะออกสู่ตลาดเป็นรายเดือนตลอดปีเพาะปลูกล่วงหน้า ในแต่ละจังหวัดอำเภอ และตำบล ซึ่งจะทำให้ทราบปริมาณสารอาหารที่มีอยู่ในแต่ละจังหวัด ทำให้สามารถบริหารจัดการความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการได้ทั้งระบบทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤต
โดยปัจจุบันมีการรวบรวมสินค้าพืช 50 ชนิด ปศุสัตว์ 10 ชนิด และประมง 10 ชนิด แสดงทั้งปริมาณผลผลิต ผลผลิตต่อไร่ ระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ข้อมูลความพอเพียงของหมู่โภชนาการต่อประชากรในจังหวัด สัดส่วนของเกษตรกรในแต่ละชนิดสินค้า ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในแต่ละเดือน และสัดส่วนการกระจายผลผลิตภายในและภายนอกจังหวัดเป็นรายสินค้าและรายจังหวัด ซึ่งเป็นการบริหารจัดการและสร้างความเชื่อมั่นความมั่นคงอาหารในประเทศ
ทั้งนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปค เป็นการรวมตัวระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาค ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ปัจจุบัน เอเปคมีสมาชิกรวม 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไนอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม ซึ่งเอเปคมีประชากรรวมกว่า 2,900 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือGDP รวมกันมากกว่า 1,700 ล้านล้านบาท เกินครึ่งของ GDP โลก ซึ่งการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปี 2565 ครั้งนี้ ไทยให้ความสำคัญกับการปรับตัวและฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด – 19 และพร้อมผลักดันประเด็นหลักที่จะช่วยสนับสนุนโยบายความมั่นคงด้านอาหาร ในฐานะครัวไทยสู่ครัวโลก โดย สหรัฐอเมริกา จะรับไม้ต่อจากประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ปี ค.ศ. 2023