ส่งออก ก.ค.โตต่อ เพิ่ม 4.3% บวก 17 เดือนติด รวม 7 เดือนขยายตัว 11.5% -“สินค้าเกษตร” ลดลง 0.3%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนก.ค.2565 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง มีมูลค่า 23,629.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.3% เป็นการขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17 คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 829,028.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17%

ส่วนยอดรวม 7 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 172,814.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.5% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 5,774,277.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.2%

ส่วนการนำเข้าก.ค.2565 มีมูลค่า 27,289.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.9% ขาดดุลการค้า 3,660.5 ล้านเหรียญสหรัฐ รวม 7 เดือน นำเข้ามูลค่า 182,730.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขาดดุลการค้า 9,916.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

สินค้าเกษตรหดตัว

ปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนการส่งออก มาจากความต้องการอาหารจากทั่วโลกยังเติบโตต่อเนื่อง ทำให้ สินค้าเกษตร อาหาร ยังส่งออกได้ดี โดยเฉพาะการส่งออกเนื้อสัตว์ปีก การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 และการผ่อนคลายประเทศให้มีการท่องเที่ยวทำให้สินค้าบางส่วน เช่น อัญมณีเครื่องประดับ เครื่องสำอาง สบู่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์การเดินทางขยายตัวได้ดีขึ้น ค่าระวางเรือมีแนวโน้มลดลง ความหนาแน่นและความล่าช้าลดลง ในการขนส่งบริเวณท่าเรือสำคัญของโลก ที่ทำให้ระบบการขนส่งคล่องตัว ไม่เป็นอุปสรรคในการส่งออก และค่าเงินบาทยังอ่อนค่า ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยในตลาดโลก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร

ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนก.ค.2565 สินค้าเกษตร ลดลง 0.3% เพราะปีนี้ผลไม้สด หมดฤดูกาลเร็ว จึงไม่มีของส่งออก จากช่วงก่อนหน้านี้ ประสบความสำเร็จในการส่งออกไปจีน จึงฉุดภาพรวมให้ลดลง แต่สินค้าเกษตรอื่น ๆ ยังเพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้แช่แข็งและผลไม้แห้ง เพิ่ม 94.3% โดยเฉพาะทุเรียนแช่แข็ง เพิ่ม 126.2% ลำไยแห้ง เพิ่ม 66.3% ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 35.5% ข้าว เพิ่ม 21.5% ยางพารา เพิ่ม 12% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 38.1% เช่น น้ำตาลทราย เพิ่ม 258.8% ไอศกรีม เป็นดาวรุ่งตัวใหม่ เพิ่ม 34.2% บวก 26 เดือนต่อเนื่อง อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 25.4% บวก 35 เดือนต่อเนื่อง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 17.3% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 16.4%

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มเพียง 0.1% เพราะมีปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ที่เกิดกับอุตสาหกรรมทั่วโลก ทำให้มีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าที่ต้องใช้ชิป แต่ก็ยังมีหลายสินค้าที่ส่งออกได้เพิ่ม เช่น เครื่องโทรสาร โทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 34.6% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เพิ่ม 25.5% ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เพิ่ม 21.4% อัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่ม 19.1% เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เพิ่ม 13.6% เครื่องนุ่งห่ม เพิ่ม 10.7%

สำหรับตลาดส่งออก ที่ขยายตัวได้ดี 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.เกาหลีใต้ เพิ่ม 39.4% 2.ตะวันออกกลาง เพิ่ม 27.4% 3.แคนาดา เพิ่ม 27.3% 4.CLMV เพิ่ม 24.2% 5.อาเซียน (5 ประเทศ) เพิ่ม 21.3% 6.เอเชียใต้ เพิ่ม 21.1% 7.ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 20% 8.สหราชอาณาจักร เพิ่ม 17.2% 9.สหภาพยุโรป เพิ่ม 8.1% และ 10.สหรัฐฯ เพิ่ม 4.7%

ทางด้านการค้าชายแดนและผ่านแดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตัวเลขการส่งออก เดือน ก.ค.2565 การส่งออกชายแดนไปยัง 4 ประเทศ มาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา มีมูลค่า 51,665 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.80% และรวม 7 เดือน มีมูลค่า 376,074 ล้านบาทเพิ่ม 19.9% ส่วนการส่งออกผ่านแดนไปจีน เวียดนาม และสิงโปร์ เดือนก.ค. มีมูลค่า 36,123 ล้านบาท ลด 27.30% รวม 7 เดือนมูลค่า 218,541 ล้านบาท ลด 21.16% เพราะสามารถแก้ปัญหาระบบการขนส่งได้ดี โดยแทนที่จะส่งออกทางบก ก็หันไปส่งออกทางเรือ ทางอากาศแทน ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องติดขัดที่ด่าน

นายจุรินทร์ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ส่งออก ประเมินว่าทั้งปียังเป็นบวก เพราะกระทรวงพาณิชย์จะจับมือกับภาคเอกชนร่วมมือกันแก้ปัญหาและจะเพิ่มแผนงานและกิจกรรมต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพื่อทำให้ตัวเลขรวมทั้งปีและ 5 เดือนที่เหลืออยู่ ทำเงินเข้าประเทศให้ได้มากที่สุด โดยได้สั่งให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลก เร่งรัดทำแผนส่งออกทั้งเชิงรุกและเชิงลึก มายังกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแล้ว ขณะนี้แผนงานทั้งหมดทำเสร็จสิ้นแล้ว ได้ดำเนินการทางปฏิบัติแล้ว เดิมกำหนดแผนการจัดกิจกรรมเชิงรุกและเชิงลึก

ทั้งปี 2565 ไว้ 185 กิจกรรม แต่จะเพิ่มอีก 345 กิจกรรม รวมเป็น 530 กิจกรรม เพื่อเร่งทำเงินเข้าประเทศและทำรายได้ให้ประเทศ ซึ่งวันที่ 14 ก.ย.2565 ได้สั่งการให้มีการนัดประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อติดตามผลและเร่งรัดการดำเนินกิจกรรมเพื่อทำให้ตัวเลขการส่งออกปี 2565 ให้ดีที่สุด

ส่วนตัวเลขการขาดดุลการค้า เดือนก.ค.2565 ที่มีมูลค่า 3,660.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 7 เดือนมูลค่า 9,916.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าที่มีราคาสูงตามการสูงขึ้นของตลาดโลก เช่น น้ำมัน และทองคำ และหากราคาพลังงานโลกยังสูงอีกก็ยังมีโอกาสที่จะขาดดุลอีก แต่ในนี้ก็มีการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกในอนาคต