กรมหม่อนไหมชู 90 ลายผ้าอัตลักษณ์ของเกษตรกรสมาชิกศิลปาชีพ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้ความสำคัญในการอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไหมไทย อันเปรียบเสมือนมรดกที่ล้ำค่าของแผ่นดิน ทรงทุ่มเทเสียสละอุทิศพระวรกายและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต อาชีพและความเป็นอยู่ โดยเฉพาะการสร้างงานสร้างรายได้ ของประชาชนที่ยากไร้และในชนบทห่างไกล ซึ่งโครงการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งเป็นรูปมูลนิธิ พระราชทานนามว่า มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ส่งผลให้เกษตรกรอยู่ดีกินดี มีความมั่นคงในครอบครัวและอาชีพ รวมทั้งก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมไหมไทย ทรงช่วยเผยแพร่ความงดงามของลวดลายผ้าไหมผ่านทางฉลองพระองค์ เมื่อเสด็จฯ ประกอบพระราชกรณียกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ผ้าไหมไทยเป็นเป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

37DEFF1D 3C5D 418F B47D 4B414D502838

ดังนั้น เพื่อเป็นการเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อวงการไหมไทย กรมหม่อนไหมจึงได้จัดทำโครงการ 90 ลายผ้าอัตลักษณ์ของเกษตรกรสมาชิกศิลปาชีพ ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 และเพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นถิ่นให้คงอยู่สืบไป เป็นการรวบรวมลายผ้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นของเกษตรกรสมาชิกศิลปาชีพและโครงการพระราชดำริ จำนวน 90 ลาย และจัดทำหนังสือเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับลายผ้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นของเกษตรกรสมาชิกศิลปาชีพและโครงการพระราชดำริ เพื่อนำทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง 

โดยมีลายผ้าอัตลักษณ์ 90 ลาย ของเกษตรกรสมาชิกศิลปาชีพจากจังหวัดต่าง ๆ อาทิ ลายศาลาทรงงานลายภูพาน ลายโคมห้า ลายหมากจับ ลายตาสับปะรด ลายภูเขาดอกฝ้าย ลายเกาะล้วงน้ำไหล ลายฉัตรลายดอกจันทร์ ลายผ้าจกลายขิด ลายกวาง ลายดอกจันทร์ ลายนางหาญ ลายดาวล้อมเพชร ลายปูนาปลาช่อน ลายราชวัตรห้อง ลายแก้วชิงดวง ลายดอกกระเจียวและลายผีเสื้อ ลายขอนแคน ลายโฮล (สตรี) ลายขอนาค เป็นต้น ซึ่งแต่ละลวดลายจะมีความเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไป อันเกิดจากแรงบันดาลใจของเกษตรกรที่ต้องการสืบสานสืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ เกิดความภาคภูมิใจในการริเริ่มสร้างสรรค์ การออกแบบลวดลายผ้า และสร้างความภาคภูมิใจในการสร้างชื่อเสียงให้กับท้องถิ่น

“โครงการ 90 ลายผ้าอัตลักษณ์ของเกษตรกรสมาชิกศิลปาชีพ นอกจากจะเป็นการรวบรวมลายผ้าอัตลักษณ์ 90 ลาย เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไหมไทยแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ ให้แก่เกษตรกรสมาชิกศิลปาชีพ และเกษตรกรภายใต้โครงการพระราชดำริ  รวมทั้งนักเรียนนักศึกษาและประชาชนที่สนใจ อันจะเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปสวมใส่ผ้าไหมไทยอัตลักษณ์พื้นถิ่นซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ทรงคุณค่าของไทย และสนับสนุนเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหม ให้ดำรงอาชีพอย่างยั่งยืนต่อไป” อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว

DD581437 BA24 4092 BCFA 6C2A7509BC4D

ผู้สนใจ สามารถชื่นชมความงดงามของตัวอย่างลายผ้า 90 ลายผ้าอัตลักษณ์ของเกษตรกรสมาชิกศิลปาชีพได้ ในงานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 17 ประจำปี 2565 ในระหว่างวันที่ 24 – 28 สิงหาคม 2565 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ฮอลล์ 9 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี