ฝนตกน้ำท่วมขัง เตือนเกษตรกร ระวัง”โรคไข้ฉี่หนู”

เตือนเกษตรกรผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังให้ระมัดระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะช่วงหลังน้ำลด ไม่ควรเดินลุยน้ำย่ำดินโคลนด้วยเท้าเปล่าหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน แนะสัญญาณป่วยโรคไข่ฉี่หนู คือ มีไข้สูงเฉียบพลันหลังลุยน้ำ 1-2 สัปดาห์ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่องหรือโคนขา ขอให้นึกถึงโรคนี้ ให้รีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน มียารักษาหายขาด อย่าซื้อยากินเอง อาจทำให้โรครุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

สามารถสังเกตได้ โดยหลังติดเชื้อประมาณ 2-10 วัน จะเริ่มมีไข้สูงอย่างเฉียบพลัน ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะที่หลัง น่องและโคนขา หนาวสั่น บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง หากมีอาการที่กล่าวมาและเกิดภายหลังเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน ขอให้นึกถึงโรคนี้ และรีบไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง ประการสำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำหรือย่ำโคลนให้แพทย์ที่ตรวจรักษาทราบด้วย เพื่อวินิจฉัยและให้การรักษาได้อย่างรวดเร็ว อย่าซื้อยามารับประทานเอง เพราะทำให้อาการรุนแรง เช่น ตับไตวาย มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

ทั้งนี้ การเสียชีวิตจากโรคฉี่หนูที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดมาจากพบแพทย์ช้าโรคฉี่หนูสามารถป้องกันได้ ขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติดังนี้

300643906 406323704980183 2004531678234176837 n

1.หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานาน หรือเดินลุยน้ำย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผลหรือรอยขีดข่วนที่เท้าต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบู๊ท หรือสวมถุงพลาสติกที่สะอาด หุ้มเท้าเพื่อป้องกันไม่ให้สัมผัสน้ำโดยตรง กรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ และรีบชำระล้างร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ

2.หมั่นล้างมือล้างเท้าด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ

3.รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่และร้อน อาหารที่ค้างมื้อควรเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด และอุ่นให้เดือดหรือร้อนก่อนนำมารับประทานทุกครั้ง

4.ดูแลทำความสะอาดที่พัก บ้านเรือนและห้องครัวให้สะอาด หากทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลดควรสวมถุงมือยางและรองเท้าบู๊ทขณะเก็บกวาด ควรเก็บขยะ โดยเฉพาะเศษอาหาร ในถังที่มีฝาปิดมิดชิด หรือทิ้งในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่น เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารให้หนูเข้ามาในบ้าน

ก่อนหน้านี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เตือนประชาชนให้ระวังภัยอันตรายและโรคที่มากับหนู ได้แก่ โรคฉี่หนู (จากตัวหนู) กาฬโรค (จากหมัดหนู) สครับไทฟัส (จากไรหนู) ฮันตาไวรัส โรคพิษสุนัขบ้า โรคไข้หนูกัด รวมทั้งโรคพยาธิต่าง ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะโรคฉี่หนู ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น โค กระบือ สุกร สุนัข และ หนู ซึ่งเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ

โรคฉี่หนู สามารถติดต่อได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักติดโรคทางอ้อม

1.ทางตรง ได้แก่ การสัมผัสกับปัสสาวะหรืออวัยวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ

2.ทางอ้อม ได้แก่ การกินน้ำหรืออาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน การเดินลุยน้ำย่ำดินที่ชื้นแฉะและมีเชื้อปนเปื้อน โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน น้ำฝนจะชะล้างพา เชื้อโรค ที่มากับปัสสาวะของสัตว์ไหลมาร่วมกันในบริเวณ น้ำท่วมขัง ทำให้คนที่อยู่บริเวณดังกล่าวมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย