ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานการประชุมเชิงปฏิบัติการ มอบแนวคิดการบริหารงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และลงพื้นที่ตรวจราชการภาคใต้ โดยมีนายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะผู้ตรวจราชการ หัวหน้าส่วนราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 14 จังหวัดภาคใต้ เข้าร่วม ณ สำนักงานชลประทานที่ 16 จังหวัดสงขลา ว่า การมอบนโยบายและลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่ภาคใต้ครั้งนี้ มุ่งหวังให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าใจแนวทางการดำเนินงานและพัฒนาการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้การดำเนินงานเกิดการบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ซึ่งนโยบาย “Agri challenge Next Normal 2022” ของกระทรวงเกษตรฯ จึงเป็นนโยบายสำคัญที่มุ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล และนโยบายกระทรวง ให้บรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร โดยการวางรากฐานการทำงานของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อรองรับความปกติใหม่ (New Normal)และสร้างเอกภาพในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานต้องดำเนินงานในเชิงบูรณาการภายใต้แนวคิด “เชื่อมโยงการบริหาร แปลงสารให้ชัด จัดสรรให้ถูก” ซึ่งหมายถึงการเชื่อมโยง ยุทธศาสตร์กับพันธกิจของกระทรวง การสร้างการสื่อสารนโยบายไปยังผู้ปฏิบัติ และการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับภารกิจ จะดำเนินการขับเคลื่อนงานใน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1) ภารกิจเร่งด่วนเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายให้บรรลุเป้าหมาย 2) ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร และ 3) วางรากฐานการทำงานของกระทรวง
โดยตั้งเป้าหมายครอบคลุม 4 ด้านในปี 2565 คือ 1) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสาขาเกษตร เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.8 2) ผลิตภาพการผลิตของภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.2 3) เกษตรกรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และ 4)พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 350,000 ไร่ รวมทั้งเตรียมการผลักดันเป้าหมายตามแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ
“การพัฒนากำลังคนภาคเกษตร พัฒนากระบวนการทำงาน ผลักดันวิจัยและนวัตกรรมเกษตร และยกระดับความร่วมมือเครือข่ายการพัฒนาภาคเกษตรจากทุกภาคส่วน มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะด้านนโยบายความยั่งยืนในระบบอาหารสัมพันธ์กับปัจจัยการผลิต ทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศ โดยหัวใจสำคัญในการผลักดันความยั่งยืนให้เกิดขึ้นอยู่ที่การบริหารจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการสูญเสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน และลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการดิน การบริหารจัดการพันธุ์พืช BCG Model ตลอดจนการทำเกษตรโดยใช้ตลาดนำการผลิต ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะส่งผลให้การขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และสามารถพัฒนาภาคเกษตรให้มีความยั่งยืนตามแนวทาง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนได้ต่อไป” ดร.ทองเปลว กล่าว
ทั้งนี้ภาคการเกษตรของจังหวัดสงขลา มีพื้นที่ทำการเกษตรกระจายอยู่ในทั้ง 16 อำเภอ โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 2,412,475 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 50.65 ของพื้นที่จังหวัดทั้งหมด และมีครัวเรือนภาคการเกษตร จำนวนทั้งสิ้น 96,611 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 17.18 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด มีมูลค่าผลิตภัณฑ์ภาคเกษตรมวลรวมประมาณ 28,500 ล้านบาท/ปี
โดยมีสินค้าเกษตรที่สำคัญของจังหวัดสงขลา ได้แก่ ข้าวนาปี ยางพารา ปาล์มน้ำมัน การลี้ยงปลากระพงขาวในกระชังและในบ่อดิน การเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม การเลี้ยงโคเนื้อ สุกร และไก่ สินค้า GI อาทิ ส้มโอพันธ์หอมควนลัง และส้มจุกจะนะ และสินค้าแปรรูปที่สำคัญ จากตาลโตนด มะม่วง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการทำประมงชายฝั่งที่สร้างรายได้ให้กับครัวเรือนเกษตรกรในพื้นที่