สภาพเดิมของบ้านจำปูน ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายน จะแล้งมาก ขนาดต้องเดินทางไปอาบน้ำบ่อ ที่อยู่ห่างออกไปจากหมู่บ้านหลายกิโลเมตร น้ำกินก็ต้องซื้อ เสียเงินกับการซื้อน้ำหลายร้อยบาทต่อเดือน
แม้หมู่บ้านจะมีระบบสูบน้ำพร้อมหอเก็บน้ำ แต่หลังจากติดตั้งได้ไม่กี่เดือน ก็ไม่สามารถใช้งานได้ และชุมชนไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซม ระบบสูบน้ำเดิมจึงถูกปล่อยทิ้งร้าง ชาวบ้านต้องทนสภาพกับการขาดแคลนน้ำมาหลายสิบปี
แต่เมื่อได้งบประมาณจากโครงการซ่อมแซมเสริมศักยภาพแหล่งน้ำ ตามโครงการฝ่าวิกฤติด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไปตามแนวพระราชดำริ จ.ยะลา ปัญหาที่ค้างคามาหลายปีก็หมดไป แม้ชุมชนต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ทั้งการติดตั้งระบบสูบน้ำด้วยพลังแสงอาทิตย์ และจัดระเบียบตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำในหมู่บ้านก็ตาม
นายตอเล๊าะ มะลี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 บ้านจำปูน อ.รามัน จ.ยะลา กล่าวว่า ระบบสูบน้ำพร้อมหอเก็บน้ำเดิมไม่สามารถใช้งานได้ แม้จะติดตั้งได้ไม่กี่เดือน และชุมชนก็ไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซม จนต้องปล่อยทิ้งร้าง เมื่อปิดทองหลังพระฯ เข้ามาทำพื้นที่ต้นแบบในจังหวัดยะลา และมีงบประมาณตามโครงการซ่อมแซมเสริมศักยภาพแหล่งน้ำฯ จึงลองยื่นเสนอของบมาใช้ปี 2564
โครงการปรับปรุงระบบสูบน้ำโซลาร์เซลล์เพื่อการเกษตรบ้านจำปูน อ.รามัน จ.ยะลา ได้รับการอนุมัติตามแผน เป็นการก่อสร้างหอถังขนาด 3.60 x 3.60 เมตร สูง 6 เมตร พร้อมติดตั้งถังเก็บน้ำพลาสติกขนาด 5,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 4 ถัง รวมทั้งสร้างโครงสร้างรองรับแผงเซลล์แสงอาทิตย์ รั้วตาข่ายเหล็กดักพื้นที่ 48 ตารางเมตร พร้อมประตู 1 ชุด และท่อส่งน้ำความยาว 1,500 เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 52 ครัวเรือน
“ตอนทำประชาคมกับชุมชนก็มีความกังวล เพราะว่าโครงการนี้มีแค่วัสดุอุปกรณ์ให้ แต่ชาวบ้านต้องลงแรงก่อสร้างวางท่อกันเอง กลัวชุมชนจะไม่เข้าใจ เพราะไม่เคยมีโครงการไหนทำแบบนี้มาก่อน แต่เพราะเป็นความต้องการของชุมชนจริง ๆ แม้จะต้องลงมือลงแรงกันเอง ชุมชนก็ลงมติว่าจะทำ เพราะเขารอน้ำกันมาหลายสิบปี”
ไม่เพียงลงมือลงแรงกันเองเท่านั้น แต่ยังมีการตั้งคณะกรรมการในการวางกฎระเบียบร่วมกัน เพื่อจัดระบบระเบียบการใช้น้ำ มีการติดมิเตอร์ทุกบ้าน รวมถึงบ้านไหนต้องการใช้น้ำก็ต้องต่อท่อเข้าบ้านด้วยตนเอง
นายอับดุลรอพา วาโตะมะ หนึ่งในคณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำ กล่าวเสริมว่า เคยมีประสบการณ์ในอดีต ที่มีระบบสูบน้ำ แต่พอระบบพังก็ไม่มีเงินซ่อม แต่ครั้งนี้เราติดมิเตอร์ทุกบ้าน และเก็บค่าใช้น้ำยูนิตละ 6 บาท กับค่าบำรุงรักษาบ้านละ 10 บาทต่อเดือน เพื่อเป็นกองทุน หากระบบเกิดการชำรุดเสียหาย เราก็สามารถนำเงินส่วนนี้มาซ่อมแซมได้ การที่ชาวบ้านลงมือต่อท่อกันเอง ทำให้รู้จุดว่าท่ออยู่ตรงไหน เวลาซ่อมแซมก็สะดวกมากยิ่งขึ้น
“ระบบสูบน้ำโซลาร์เซลล์นี้ เป็นระบบที่ดีกว่าแบบเก่า ด้วยใช้งบประมาณไม่มาก ทั้งวัสดุอุปกรณ์ รวมถึงการติดตั้งก็ไม่ยุ่งยาก และในอนาคตหากเกิดการชำรุดเสียหายก็สามารถใช้ช่างในชุมชนในการซ่อมแซมได้” นายนิอาฟาร์ นิเดฮะ คณะกรรมการผู้ใช้น้ำและช่างซ่อมบำรุง กล่าว
นายตอเล๊าะ ผู้ใหญ่บ้านสรุปว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก สามารถแก้ไขปัญหาชุมชนได้ตรงจุด ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำอุปโภคบริโภคให้ชาวบ้านได้เยอะมาก จากแต่ก่อนต้องจ่ายค่าน้ำเดือนละหลายร้อยบาท ปัจจุบันเหลือเพียงหลักสิบบาทเท่านั้นและในอนาคตชุมชนมองว่าจะทำน้ำดื่มบรรจุขวดของหมู่บ้าน ขายทั้งในและนอกชุมชน เพื่อเป็นรายได้เสริมเข้าชุมชนอีกด้วย
ข้อมูลจากมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ