สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรในช่วงฝนตกหนักติดต่อกันในบางพื้นที่มักเกิดการระบาดของโรคโคนเน่าและหัวเน่ามันสำปะหลังจากเชื้อไฟทอบเทอร่า เนื่องจากมีความชื้นสัมพัทธ์สูง ดินมีการระบายน้ำได้ไม่ดี มักเกิดโรคในช่วงที่มันสำปะหลังสร้างหัวและสะสมแป้ง
โดยมันสำปะหลังจะแสดงอาการใบเหลือง เหี่ยว และร่วง โคนต้นแสดงอาการเน่า เป็นสีน้ำตาลหรือดำ บางพันธุ์เช่น พันธุ์ห้วยบง ๖๐ พบอาการ โคนต้นบริเวณคอดินแตกเมื่อขุด ดูพบหัวมันสำปะหลังเน่า ผ่าดู ภายในเป็นสีน้ำตาล หาก อาการรุนแรงไม่สามารถเก็บ เกี่ยวผลผลิตได้
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
๑. หากพื้นที่ปลูกเป็นดินดานควรไถระเบิดชั้นดินดานและตากดินไว้ อย่างน้อย ๒ สัปดาห์ก่อนปลูก
๒. แปลงปลูกควรยกร่อง เพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง
๓. คัดเลือกท่อนพันธุ์จากแหล่งที่ไม่มีการระบาดของโรค
๔. ก่อนปลูกแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเมทาแลกซิล ๒๕% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๒๐-๕๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม ๘๐% ดับเบิ้ลยูพีอัตรา ๕๐กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร เป็นเวลา ๑๐ นาที
๕. ควรจัดระยะปลูกให้เหมาะสม เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เหมาะต่อการระบาดของโรค
๖. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบต้นที่ แสดงอาการของโรค ถอนนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วโรยปูนขาว หรือราดด้วยสารเมทาแลกซิล ๒๕%ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๒๐-๕๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม ๘๐% ดับเบิ้ลยูพีอัตรา ๕๐ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร บริเวณที่ถอนและโดยรอบห่างออกไปประมาณ ๑ เมตร
๗. หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรเก็บเศษเหง้า และเศษซากมันสำปะหลัง ไปทำลายนอกแปลงปลูก
๘. ควรทำความสะอาดเครื่องจักรกลการเกษตรที่ใช้ใน แปลงที่เป็นโรค เนื่องจากเชื้อสาเหตุโรคอาจติดมากับเครื่องจักรกลการเกษตรนั้น
๙. ในแปลงที่มีการระบาดของโรครุนแรง ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เช่น อ้อย ข้าวโพด หรือพืชตระกูลถั่ว
ในกรณีที่พบการระบาดของโรครุนแรง ควรปฏิบัติ ดังนี้
๑. พื้นที่ที่พบต้นแสดงอาการของโรคมากกว่าร้อยละ๕๐ ควรไถทิ้ง เก็บเศษซากนำไปทำลายนอกแปลงปลูกแล้วตากดิน
๒. พื้นที่ที่พบต้นแสดงอาการของโรคร้อยละ ๓๐-๕๐ – มันสำปะหลังอายุ ๑-๓ เดือน ควรไถทิ้ง เก็บเศษซากนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วตากดิน
- มันสำปะหลังอายุ ๔-๗ เดือน หว่านปูนขาวให้ทั่วแปลง และควรเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตทันที
- มันสำปะหลังอายุ ๘ เดือนขึ้นไป ควรเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตทันที