น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ (17 ส.ค. 2565) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้เป็นประธานในงาน “Meet the Press : กัญชา-กัญชง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และเศรษฐกิจ” โดยมี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ พร้อมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
สำหรับงานในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยกรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ภายใต้คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายกัญชา-กัญชงทางการแพทย์ของรัฐบาลแก่สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติ เพื่อนำไปสู่การนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและสามารถนำไปขยายผลการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบอย่างกว้างขวาง ซึ่งงานประกอบด้วยหลายกิจกิจกรรม ทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารในประเด็นที่อยู่ในความสนใจ อาทิ
ความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ…. การเสวนาจากผู้แทนกรมการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) สถาบันกัญชาทางการแพทย์ และกรมอนามัย รวมถึงการตอบข้อซักถามสื่อมวลชน และนำสื่อมวลชนศึกษาดูงานในสถานที่จริง
รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวระหว่างการเปิดงานฯ ว่า หลังจากปลดล็อกกัญชา กัญชง ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. เป็นเวลา 2 เดือน นโยบายกัญชาเสรีเพื่อสุขภาพและการแพทย์ไม่ได้ก่อผลกระทบด้านลบต่อสังคมมากอย่างที่มีการกังวล เห็นได้จากจำนวนผู้เข้ารับการรับการรักษาและผู้ป่วยที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือภาวะพิษเฉียบพลันจากกัญชา ณ ห้องฉุกเฉิน ระหว่างวันที่ 6 มิ.ย. – 16 ส.ค. เป็นเวลา 2 เดือนกว่า มีผู้ป่วย 60 ราย หรือเฉลี่ยเพียงวันละ 1 คน ซึ่งไม่มีนัยสำคัญเมื่อเทียบเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศเกือบ 70 ล้านคน โดยทั้งหมดเนื่องมาจากการได้รับข้อมูลข่าวสารการใช้กัญชา กัญชงที่ถูกต้องผ่านช่องทางต่าง ๆ ของรัฐ ไปทั่วประเทศ
ทั้งการมีคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ ขณะที่แอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” ที่รวบรวมข้อมูลการใช้ที่ถูกต้องและการอนุญาตกัญชาไว้ ขณะนี้ก็มีผู้เข้าใช้งานเกือบ 46 ล้านครั้ง มีผู้ลงทะเบียนกว่า 1 ล้านคน ทั้งเพื่อขอจดแจ้งการปลูกในครัวเรือน เพื่อการพาณิชย์ ส่วนที่ใช้เพื่อผลิตภัณฑ์ยา อาหาร เครื่องสำอาง ก็มี อย. ที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนปกติ ซึ่งเป็นการควบคุมมาตรฐานการใช้กัญชาให้มีความรอบคอบ และควบคุมการใช้กัญชาให้มากที่สุด
นอกจากนี้ ข้อมูลผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการบำบัดแสดงให้เห็นว่าขณะนี้สิ่งทำร้ายสุขภาพประชาชนคือยาบ้า ไม่ใช่กัญชา ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมาจากผู้เข้ารับการบำบัดทั้งหมดเป็นผู้เสพยาบ้าอยู่ถึงเกือบร้อยละ 80 ขณะที่เป็นผู้เข้ารับการบำบัดจากเสพกัญชาร้อยละ 4.2 และคาดว่าจะลดลงไปเรื่อย ๆ เมื่อประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจ และในช่วงที่ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. ยังไม่มีผลบังคับ กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกประกาศกระทรวง 4 ฉบับ เพื่อกำกับดูแลการใช้กัญชาให้เหมาะสม ที่หากกระทำผิดก็ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ซึ่งความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. คาดว่าคณะกรรมาธิการจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ หลังจากนั้นจะนำเสนอสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
นายอนุทิน กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายก่อนจะสร้างความได้เปรียบให้กับประเทศไทย เนื่องจากตลาดผลิตภัณฑ์จากกัญชามีมูลค่าสูง ขณะที่ไทยก็มีองค์ความรู้และภูมิปัญหาดั้งเดิมอยู่มาก เช่นกรณีโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่มีการวิจัยยากัญชาที่จะมาทดแทนยานอนหลับ ที่ปัจจุบันเฉพาะคนไทยเองก็มีปัญหาเรื่องการนอนอยู่ถึง 19 ล้านคน ซึ่งผลการวิจัยนี้จะช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศและเพิ่มโอกาสการส่งออกเพราะตอนนี้ตลาดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์มูลค่าสูงหลายล้านล้านบาท
ขณะที่มูลค่าตลาดของกัญชา กัญชง ของไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ ในขณะนี้มีอยู่ที่ 28,000 ล้านบาท จากพื้นที่การปลูก 7,500 ไร่ และยังมีที่รอการอนุมัติอีกจำนวนมากเชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้การเติบโตทั้งอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ในอนาคตไม่กี่ปีข้างหน้าจะเพิ่มไปอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท
สำหรับความเคลื่อนไหวในต่างประเทศเอง ในสัปดาห์หน้า รมว.สาธารณสุขมาเลเซีย ซึ่งได้ประกาศนโยบายที่จะใช้กัญชาทางการแพทย์ในมาเลเซียก็จะมาพบผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขและขอดูงานการดำเนินการของประเทศไทย
ขณะที่เยอรมนีก็อยู่ระหว่างกระบวนการออกกฎหมายกัญชาเสรี ซึ่งการที่เยอรมนีเป็นประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทำให้คาดว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปจะดำเนินนโยบายในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป็นโอกาสที่ไทยจะเจาะตลาดไปยังประเทศต่าง ๆ สร้างส่วนแบ่งในการส่งออกผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง เช่นเดียวกับแคนาดาที่ประกาศให้กัญชาถูกกฎหมายเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และขณะนี้สร้างรายได้เข้าประเทศได้สูงถึง 2,000 ล้านยูโรต่อปี