วันที่ 16 ส.ค. 65 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ประเด็นที่ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขอขึ้นราคา จากซองละ 6 บาทเป็น 8 บาท
นายจุรินทร์ กล่าวว่า เป็นเรื่องจริงที่มาม่าได้เคยปรับราคาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วครั้งหนึ่งจากซองละ 5 บาทเป็นซองละ 6 บาท เมื่อปี 51 ซึ่งล่วงเลยมา 14 ปีแล้ว และได้ขอปรับราคามาตั้งแต่ปีที่แล้วเกือบสองปี แต่กรมการค้าภายในยังไม่อนุญาตเพราะต้องดูผลกระทบกับภาระของผู้บริโภคด้วย แต่ตอนนี้ขอปรับจากซองละ 6 บาทขึ้นเป็นซองละ 8 บาท
ส่วนตัวของตนคิดว่าอาจจะมากเกินไป ถ้าสูงขนาดนี้จะกระทบผู้บริโภคผู้มีรายได้น้อยมากเกินสมควร แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับกรมการค้าภายในที่จะต้องไปดูต้นทุน เข้าใจว่าวิเคราะห์ต้นทุนทั้งหมดเสร็จแล้ว ซึ่งให้นโยบายไปว่าถ้าจะต้องปรับราคาขึ้นต้องเป็นตามต้นทุนที่สูงขึ้นจริงและให้เดือดร้อนกับผู้บริโภคให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ไม่ต้องถึงภาวะขาดทุนและหยุดการผลิตหรือส่งออกอย่างเดียวเพราะตลาดต่างประเทศราคาดีกว่า
“เพื่อให้ผู้บริโภคมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบริโภคต่อไป โดยอธิบดีกรมการค้าภายในจะเป็นผู้พิจารณาและถ้าต้องขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริง ถ้าต้นทุนปรับลดลงมา จะต้องมีการปรับราคาลงมาด้วย ให้กรมการค้าภายในติดตามสถานการณ์ต้นทุนโดยใกล้ชิด ขณะนี้ต้องยอมรับความจริงว่าต้นทุนเพิ่มขึ้นทั้งค่าพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส ค่าขนส่งและต้นทุนการผลิตที่เป็นวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลีและน้ำมันพืช เป็นต้น” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
ก่อนหน้านี้ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมการค้าภายในรับทราบและติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง ยอมรับว่าต้นทุนบางรายการมีการปรับเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ตรึงราคาเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีการอนุญาตให้ปรับราคาแต่อย่างใด โดยจะพิจารณาเป็นรายๆ บนหลักการวิน-วินโมเดล คือผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายอยู่ต่อไปได้ ผู้บริโภคได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ด้านผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 บริษัทเจ้าหลักในตลาด ได้แถลงร่วมกันถึงต้นทุนที่แท้จริง และระบุว่าหากจะพบกันครึ่งทางคือขึ้นให้ 1 บาท ก็ไม่น่าจะมีประโยชน์นัก เพราะต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงกว่านั้นมาก หรือต้นทุนสูงขึ้นมากกว่า 1 บาทต่อซอง โดยบางบริษัท เช่น ยำยำ ขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ส่วนรายใหม่อย่าง ซื่อสัตย์ ก็ขาดทุนเช่นกัน
ขณะที่ มาม่า ที่เป็นผู้ครองส่วนแบ่งรายใหญ่ และเป็นหัวหอกหลักในการขอขึ้นราคาให้ข้อมูลว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา วัตถุดิบขึ้นราคาทั้งหมดและอยู่นอกเหนือปัจจัยควบคุม ทั้งแป้งสาลีที่กระทบจากสงคราม และปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ขึ้นราคา จากที่เคยซื้อได้ 250 บาทต่อถุง ขึ้นเป็น 500 กว่าบาทต่อถุง นอกจากนี้ยังมีน้ำมันปาล์มที่ขึ้นราคามา 3 เท่าตัว ซึ่งวัตถุดิบสองตัวนี้ทำให้ต้นทุนขึ้นมา 1 บาทกว่า ๆ ยังไม่รวมวัตถุดิบเครื่องปรุงอย่าง พริก หอม กระเทียม ที่ขึ้นมา 35% ค่าแพ็กเกจที่ปรับขึ้นมาอีก 12-15 % ยังไม่นับรวมค่าแรงที่จะปรับขึ้นอีก 5-8%
ส่วนวิธีบริหารความเสี่ยงของผู้ผลิต กรณีไม่ได้ขึ้นราคา คือการปรับลดการขายในประเทศและเน้นส่งออกมากขึ้น เพราะได้ราคาดีกว่าและไม่มีการควบคุมราคาเหมือนขายในประเทศ ปัจจุบันผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสะเร็จรูปสามารถปรับราคาขายส่งออกประมาณ 1-2 ครั้ง โดยมีราคาสูงกว่าไทย 2 เท่าตัว และสัดส่วนการส่งออกในประเทศประมาณร้อยละ 50-90 และส่งออกร้อยละ 10-50 ซึ่งอาจจะปรับสัดส่วนการส่งออกขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งงดจัดโปรโมชันในประเทศ