ปลัดเกษตรฯลุยแดนอีสานอย่างต่อเนื่อง นำทีมผู้ตรวจราชการ ติดตามการดำเนินงานวิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงปลาดุกตำบลปะโล จังหวัดหนองคาย
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการเลี้ยงปลาดุกในบ่อผ้าใบของวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลาดุกตำบลปะโค โดยมีคณะผู้ตรวจราขการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่เข้าร่วม ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ตำบลปะโค อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ว่า โครงการเลี้ยงปลาดุกในบ่อผ้าใบ เป็นนวัตกรรมการเลี้ยงปลาบนบก สามารถจัดการของเสียได้ง่าย ใช้พื้นที่และน้ำน้อย ใช้ระบบการเลี้ยงจุลินทรีย์ไบโอฟลอคมาใช้ (Biofloc) เพื่อบำบัดน้ำให้มีคุณภาพที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ใช้เวลาในการเลี้ยงขุนประมาณ 3 เดือน สามารถจับขายได้ในราคากิโลกรัมละ 60 บาท สามารถเลี้ยงได้ 3 รอบต่อปี จึงเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง สร้างรายได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งมีตลาดรองรับที่แน่นอน
โดยวิสาหกิจฯ ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการค้าและการจัดการฟาร์ม กับ ฟาร์มปลาดุกหนองคาย ซึ่งบริหารจัดการด้านการตลาด และส่งผลผลิตไปยังพื้นที่ในเขตจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และตลาดสปป.ลาว เป็นโอกาสของเกษตรกรในการสร้างรายได้เพิ่ม และสร้างความมั่นคงจากอาชีพเลี้ยงปลาดุกในบ่อผ้าใบ ในอนาคตสามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรรายอื่น ๆ ที่มีความสนใจในการเลี้ยงปลาดุกในรูปแบบดังกล่าวต่อไป
ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงปลาดุกตำบลปะโค ได้จัดทำโครงการเพื่อขอกู้เงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2564 ภายใต้ “เลี้ยงปลาดุกในบ่อผ้าใบ” และได้รับอนุมัติงบประมาณ จำนวน 3,956,670 บาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ส่งเสริมและผลักดันให้วิสาหกิจชุมชน ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพื่อสร้างอาชีพและรายได้เพิ่มแก่เกษตรกร โดยมีหน่วยงานร่วมดำเนินการ อาทิ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดหนองคาย สำนักงานประมงจังหวัดหนองคาย และสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์หนองคาย ให้คำแนะนำตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ
“ขอฝากให้คำแนะนำกับกลุ่มวิสาหกิจฯ ในเรื่องของต้นทุนและผลกำไร ซึ่งจากผลการดำเนินงานในขณะนี้ต้นทุนนั้นสูงพอๆ กับราคาขาย อาจเป็นเพราะด้วยราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับอัตราการอดชีวิตของปลาดุกที่ต้องมากกว่านี้ ต้องขอให้กรมประมงเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด ในเรื่องของการอนุบาลสัตว์น้ำ และขั้นตอนการเลี้ยงต่างๆ เพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของปลาดุก รวมถึงการแปรรูปต่อในอนาคต หากประสบปัญหาสินค้าล้นตลาด เกินความต้องการของผู้ซื้อในอนาคตจะทำอย่างไรได้บ้างนอกจากนี้ต้องฝากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ในเรื่องของการส่งคืนเงินกู้ ต้องเข้ามาให้ข้อมูลด้านต่างๆ อาทิการขอขยายระยะเวลาการส่งคืนเงินกู้ เนื่องจากขณะนี้วิสาหกิจฯ ถึงจะมีทิศทางที่ดี แต่ถ้าวิเคราะห์จริงๆการต้องส่งเงินกู้ทั้งหมดในปี 2569 น่าเป็นกังวลอยู่พอสมควร จุดนี้ถือเป็นวิสาหกิจุมชนแรกที่เข้ามาดูด้วยตนเอง จึงขอฝากข้อคิดไว้ และฝากให้นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงเป็นกำลังใจให้ต่อไปครับ” ดร.ทองเปลวกล่าว