นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 5 (The Joint Development Strategy (JDS) for Border Areas) และการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ครั้งที่ 14 (The Joint Commission for Bilateral Cooperation: JC) ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ร่วมกับนายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง และ ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ ณ รร.อนันตรา สยาม กรุงเทพมหานคร โดยมี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และดาโตะ ซรี ไซฟุดดิน อับดุลละฮ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย เป็นประธานร่วมของการประชุมฯ
ภายใต้หัวข้อหลัก “เสริมสร้างความยืดหยุ่นฟื้นตัวได้ในช่วงเวลาแห่งความท้าทาย” ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญที่ไทยและมาเลเซียจะร่วมกันวางยุทธศาสตร์และกำหนดแนวทางการเพิ่มพูนความร่วมมือในการส่งเสริมความยืดหยุ่นและความสามารถในการฟื้นตัวของทั้งสองประเทศจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และเพื่อรับมือความท้าทายอื่น ๆ โดยที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าเกี่ยวกับการพิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร ซึ่งจะรวมถึงความร่วมมือด้านการประมงระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วย
ด้านนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบร่างบันทึกการประชุมของการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ครั้งที่ 14 (The Joint Commission for Bilateral Cooperation: JC) และการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 5 ระหว่างไทยกับมาเลเซีย (The Joint Development Strategy (JDS) for Border Areas) ซึ่งร่างบันทึกการประชุมทั้ง 2 ฉบับนี้ จะมีการรับรองในการประชุมระหว่างวันที่ 9-10 สิงหาคม 2565 โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมที่กรุงเทพมหานคร หลังจากทั้งสองประเทศว่างเว้นการประชุมมานานกว่า 6 ปี สำหรับสาระสำคัญของร่างบันทึกการประชุมแต่ละฉบับมีดังนี้
ฉบับแรก ร่างบันทึกการประชุมของการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ครั้งที่ 14 มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซียอย่างรอบด้านและขับเคลื่อนความร่วมมือในทุกระดับทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี โดยดำเนินการผ่านความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการเมืองและความมั่นคง อาทิ 1) กระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงตามแนวชายแดนมากขึ้น เตรียมพร้อมรับมือกับการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ และร่วมมือแก้ไขประเด็นบุคคลสองสัญชาติและสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย 2) ขจัดการลักลอบค้ายาเสพติด 3) ความร่วมมือด้านการทหาร
ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว อาทิ 1) ตั้งเป้าการค้าร่วมกันที่ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 2) อำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนข้ามแดน 3) เชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ของไทยและพื้นที่ทางเหนือของมาเลเซีย 4) ร่วมมือด้านแรงงาน โดยไทยขอให้มาเลเซียพิจารณาการอำนวยความสะดวกให้แรงงานไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปทำงานในมาเลเซีย
ด้านสังคมและวัฒนธรรม อาทิ 1) ให้มีการแข่งขัน Goodwill Games ต่อไป ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาระหว่าง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย กับ 6 รัฐ ทางตอนเหนือของมาเลเซีย 2) สร้างความเข้าใจด้านวัฒนธรรม 3) รวบรวม แลกเปลี่ยนข้อมูล และพัฒนาฐานข้อมูลทรัพยากรทางธรณีวิทยาตามแนวชายแดน นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในสาขาใหม่ๆ อาทิ การเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านระบบดิจิทัลด้วย QR ระหว่างไทยกับมาเลเซีย
นางสาวรัชดากล่าวต่อว่า ฉบับที่สอง คือ ร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 5 ระหว่างไทยกับมาเลเซีย มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ และแสดงเจตนารมณ์ร่วมในการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนไทย – มาเลเซีย ซึ่งมีสาระสำคัญ อาทิ
1.จัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์คณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย – มาเลเซีย ปี ค.ศ.2022-2026 เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนบริเวณชายแดน
2.เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานที่ไร้รอยต่อตามพื้นที่ชายแดน เช่น เร่งรัดการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ – ด่านบูกิตกายูฮิตัม บูรณาการเชื่อมต่อรถไฟทางคู่เส้นทางระหว่างเมืองอีโปห์ – เมืองปาดังเบซาร์ และเมืองปาดังเบซาร์ – อำเภอหาดใหญ่ เร่งรัดการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้าโก-ลกแห่งใหม่ ที่อำเภอตากใบ – เปิงกาลันกุโบร์ และสะพานมิตรภาพสุไหงโกลก – รันเตาปันยัง แห่งที่ 2
3.เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย โดยในพื้นที่ฝั่งไทย ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ที่ จังหวัดสงขลา เขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดนราธิวาส ที่จะจัดตั้งใหม่
4.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และความร่วมมือด้านการเงินและการธนาคาร อาทิ 1) จัดอบรมทักษะอาชีพ การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน และการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในพื้นที่ชายแดนไทย – มาเลเซีย 2) แลกเปลี่ยนการพัฒนาระบบการเงินอิสลาม และบทบาทของสถาบันการเงิน เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่ม MSME และนักธุรกิจท้องถิ่นในพื้นที่ชายแดน