เข้าสู่ฤดูกาล”ทุเรียน”ของทุกปีในช่วงหน้าร้อนแบบนี้ใครที่ชื่นชอบราชาผลไม้ชนิดนี้ก็ต้องสรรหามากินแต่ความหลากหลายสายพันธุ์ทุเรียนบนโลกก็ทำให้มีทางเลือกกินกันไปตามใจชอบ…รู้หรือไม่วันนี้จะพาไปรู้จักทุเรียนอีกหนึ่งสายพันธุ์ในใจของหลายคน ”ทุเรียนพันธุ์ชะนี”…ชื่อนี้ท่านได้แต่ใดมา…ไปตามหากัน
ทุเรียนชะนี : Chani Durian
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Durio zibthinus murray
อยู่ในวงค์ : Bombacaceae
ทุเรียนชะนี (Chani Durian) เป็นทุเรียนสายพันธุ์หนึ่ง ผลเป็นผลเดี่ยว ผลมีลักษณะทรงกลม ยาวรี ผิวเปลือกหนาแข็ง มีหนามแหลมยาว ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีน้ำตาลปนเขียว มีเนื้อสีเหลือง แยกอยู่เป็นพูมีเมล็ดใหญ่สีน้ำตาล อยู่ข้างในเนื้อ เนื้อละเอียดเหนียวนุ่ม มีรสชาติหวานมัน มีกลิ่นหอมแรง มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่นิยมปลูกกันมากในหลายประเทศที่มีอากาศร้อน ที่นิยมปลูกในประเทศไทยมีหลายสายพันธุ์ มีคุณประโยชน์และมีสรรพคุณ ทางยาหลายอย่าง นำมาเป็นผลไม้ใช้รับประทาน ใช้ประกอบอาหารต่างๆ ทำเครื่องดื่มต่างๆได้
ทำไมทุเรียนมีชื่อว่า “ชะนี”
จากหนังสือบันทึกประวัติชีวิตของนางจ่าง จุลละทรัพย์ เป็นชาวสวนทุเรียนโดยกำเนิด อยู่แถวบางขุนนนท์ ซึ่งเป็นสวนทุเรียนที่ได้มรดกมาจากตายายแต่ในอดีต ในสมัยพ.ศ.2467 ทุเรียนดีๆ ผลใหญ่ราคาอย่างดีสุดก็ผลละ 1 บาท ถ้ามากองรวมๆกัน ก็ตกประมาณลูกละ 80 สตางค์ โดยผู้ซื้อไม่พอใจสามารถนำมาคืนได้ กล่าวคือ ที่ขั้วทุเรียนนั้น ชาวสวนนิยมติดตราด้วยสังกะสี กดที่ขั้วโดยใช้อักษร “จ” คือ จ่าง (ชื่อของแม่ค้า) เป็นต้น
ในสวนทุเรียนเก่าของนางจ่าง จุลละทรัพย์ มีต้นทุเรียนใหญ่สูงเท่าต้นยาง ออกลูกดกมากขนาด 100-300 ผล สมัยรัชกาลที่ 6-7 มีสายพันธุ์ อีกบ ทองย้อย ก้านยาว อีรวง ซึ่งในสมัยนั้นพันธุ์อีกบขายไม่ดี ปู่ขำจึงได้ทดลองผสมพันธุ์ใหม่กลายเป็น “กบตาขำ” จึงมีรสดีขึ้น
นอกจากนี้ญาติผู้ใหญ่ของนางจ่างท่านหนึ่งได้ผสม “อีกบ+ก้านยาว” เข้ากันออกมาเป็นทุเรียนพันธุ์ใหม่ว่า “ชะนี” มีรสหวานมันเหมือนกบกับก้านยาวปนกัน โดยว่าญาติผู้ใหญ่ของนางจ่างนี้ชอบเลี้ยงชะนีจะเอาไปสวนก็เอาชะนีโอบคอไปด้วย ชะนีเอามือเที่ยวลูบคลำดอกทุเรียนในขณะที่กำลังผสมทุเรียนอีกบ+ก้านยาวอยู่ เมื่อติดลูกจึงให้ชื่อว่า “ชะนี” ถือกำเนิดที่แถวบางขุนนนท์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก่อนที่จะแพร่หลายไปปลูกกันที่บางกรวย บางใหญ่ เมืองนนท์ บางบัวทอง จันทบุรี ตราด ระยอง ปราจีนบุรี
ต้นทุเรียน มักไม่ชอบน้ำกร่อย ชอบน้ำจืด ชอบอากาศชื้นแต่ไม่แฉะ ชาวสวนจึงทำร่องสวนไว้เพื่อขังน้ำจืด เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ต่อมารัฐบาลมีนโนบายขุดลอกสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เกิดความเสียหายมหาศาลให้แก่สวนมากมาย เนื่องจากปัญหาน้ำเค็มลุกล้ำเข้ามา ทำให้สวนล่มประกอบกับน้ำเสียโรงงาน ทำให้รากทุเรียนเน่า เป็นอันต้องฟันทุเรียนทิ้ง
ส่วนประโยชน์และสรรพคุณของทุเรียนชะนีมีอะไรบ้าง
เนื้อทุเรียนมีวิตามินเอ มีวิตามินซี มีธาตุแคลเซียม มีฟอสฟอรัส มีวิตามินบี2 มีวิตามินบี3 มีวิตามินบี1 มีวิตามินบี5 มีวิตามินบี6 มีวิตามินบี9 มีโปรตีน มีธาตุเหล็ก มีธาตุแมกนีเซียม มีคาร์โบไฮเดรต มีเส้นใย มีโพแทสเซียม มีพลังงาน มีโซเดียม มีสังกะสี มีไขมัน มีแมงกานีส มีกรดอมิโน มีซัลเฟอร์
สรรพคุณทางยา ช่วยแก้ฝี ช่วยทำให้ฝีแห้ง ช่วยทำให้หนองแห้ง ช่วยรักษาแผลพุพอง ช่วยสมานแผล ช่วยรักษาโรคผิวหนังช่วยขับพยาธิ ช่วยบำรุงกระดูก ช่วยบำรุงฟัน มีภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ช่วยรักษาโรคมะเร็ง ช่วยลดคอเลสเตอรอล ช่วยลดไขมันอุดตันในเลือด ช่วยระบบขับถ่าย แก้ดีซ่าน แก้ไข้ แก้ซาง ช่วยรักษาโรคคางทูม ช่วยรักษาโรคบวมน้ำ ใช้ไล่ยุง ใช้ไล่แมลงต่างๆ แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ท้องร่วงแก้ท้องเสีย
แม้คุณประโยชน์จะมากล้น แต่ก็มีข้อควรระวังด้วยเช่นกัน เพราะทุเรียนชะนี มีน้ำตาลสูง มีไขมันสูง มีความร้อนสูง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ควรเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานด้วย
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ นางจ่าง จุลละทรัพย์ 2528