“ชลประทาน”เตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำรับมือน้ำหลาก 

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่ากรมชลประทานเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทยและคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 7 – 9 สิงหาคม 2565) ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 2 (185/2565) เรื่องฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 7 – 9 สิงหาคม 2565) ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน 

ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย นั้น 

56E11711 1FB2 4857 96E6 0AC8009142DE

โดยกรมชลประทาน ได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หากมีฝนตกหนัก หรือลมกระโชกแรงจนส่งผลกระทบต่ออาคารชลประทาน และทรัพย์สินของทางราชการให้เข้าไปดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ให้ติดตาม ตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งาน และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมไปถึงการเตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลากความพร้อมของบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ ระบบสื่อสารสำรอง บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนประชาชนเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ ตลอดจนสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที 

ทั้งนี้ เพื่อให้การควบคุมระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับการคาดการณ์ปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วงเวลาข้างต้นกรมชลประทาน มีความจำเป็นต้อง

ปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 6 ส.ค.65 เวลา 18.00 น.) จากอัตรา 699 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) /วินาที เป็นอัตรา 710 ลบ.ม./วินาที และในวันนี้ (7 ส.ค. 65 เวลา 06.00 น.) จากอัตรา710 ลบ.ม./วินาที เป็นอัตรา 800 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำทยอยเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.20 – 0.80 เมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทองคลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา(แม่น้ำน้อย) ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิดหรือสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมชลประทาน 1460