
นางธัญญ์พิชชา เถระรัชชานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “จิ้งหรีด” เป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรทางเลือกที่มีอนาคต องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ส่งเสริมให้เป็นอาหารชนิดใหม่สำหรับประชากรในอนาคต หรือ Novel Food ที่เป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ซึ่งประเทศไทย พบว่า จังหวัดสุโขทัยเป็นแหล่งผลิตแมลงเศรษฐกิจจิ้งหรีดที่สำคัญของภาคเหนือ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนชื้น เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของจิ้งหรีด อีกทั้งเกษตรกรยังได้รับการส่งเสริมรวมกลุ่มแปลงใหญ่เพื่อผลิตจิ้งหรีดให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน

โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานนอกสังกัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งเน้นการขับเคลื่อนโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” จังหวัดสุโขทัย ชนิดสินค้า “จิ้งหรีด” ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงจิ้งหรีดแปลงใหญ่ชุติกาญจน์ ตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นกลุ่มต้นแบบที่มีศักยภาพการผลิตในพื้นที่ ได้รับรองมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด GAP เพื่อยกระดับศักยภาพการผลิตให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ตามหลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน

สศท.2 ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงจิ้งหรีดแปลงใหญ่ชุติกาญจน์ ตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เริ่มดำเนินการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ ภายใต้นโยบายส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจฯ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 โดยมีนางชุติกาญจน์ เจื้อยแจ้ว เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่ม จำนวน 36 ราย พื้นที่เลี้ยงรวม 223 ไร่

ด้านสถานการณ์การผลิต เกษตรกรนิยมเลี้ยง 3 สายพันธุ์ ได้แก่ จิ้งหรีดขาว (สะดิ้ง) จิ้งหรีดทองดำ และจิ้งโกร่ง เนื่องจากเป็นพันธุ์ทางการค้า ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้นได้ผลตอบแทนเร็ว ลักษณะการเลี้ยง แบ่งเป็น เลี้ยงในโรงเรือนรวมของกลุ่ม โดยเลี้ยงในโรงเรือนที่ปิดมิดชิด จะควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือนให้อยู่ที่ 29 – 33 องศาเซลเซียส กระบะเลี้ยงต้องไม่มีรูรั่ว ติดเทปกาวบนขอบกระบะเพื่อป้องกันจิ้งหรีดออก และใช้มุ้งคลุมบนกระบะ โดยภายในกระบะจะเรียงแผงไข่ไว้ จัดพื้นที่สำหรับให้อาหาร ให้น้ำเป็นการเฉพาะ และบางส่วน เลี้ยงที่บ้านของเกษตรกร โดยใช้กล่องเลี้ยงจิ้งหรีดจากไม้อัด ขนาดประมาณ 1.20 x 2.40 เมตร อาหารจิ้งหรีด ได้แก่ อาหารข้น (รำข้าว) /อาหารสำเร็จรูป ผสมกับพืชผักต่าง ๆ ที่เกษตรกรปลูกเองแบบปลอดสารพิษ การเก็บผลผลิต หลังนำแผงไข่ ไปเรียงไว้ประมาณ 7 – 9 วัน ไข่จะเริ่มฟักเป็นตัว และเลี้ยงต่อไปอีก 45 วัน แล้วจึงจับขาย โดยในระยะเวลา 1 ปี สามารถเลี้ยงจิ้งหรีดได้ 6 รุ่น โดยในปี 2567 จิ้งหรีดทั้ง 3 สายพันธุ์ของกลุ่ม ให้ผลผลิตรวม 24 ตัน/ปี ราคาที่เกษตรกรขายได้ (ราคา ณ 25 เมษายน 2568) แบ่งเป็น ราคาขายส่ง เฉลี่ยอยู่ที่ 85 บาท/กิโลกรัม ราคาปลีก เฉลี่ยอยู่ที่ 120 บาท/กิโลกรัม เกษตรกรได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 79,000 บาท/ปี หรือ 13,167 บาท/รุ่น ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 62,682 บาท/ปี หรือ 10,477 บาท/รุ่น ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 95 สมาชิกกลุ่มจำหน่ายจิ้งหรีดสดให้กับ หจก.ฟาร์มจิ้งหรีดชุติกาญจน์ เพื่อนำไปแปรรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตามความต้องการของลูกค้า และอีกร้อยละ 5 จำหน่ายให้กับพ่อค้ารับซื้อ

ด้านการจัดการฟาร์มหลังเก็บผลผลิต เกษตรกรจะนำแผงไข่และอุปกรณ์ต่างๆไปทำความสะอาด และฆ่าเชื้อก่อนนำมาบรรจุไข่จิ้งหรีดเพื่อเลี้ยงรอบต่อไป สำหรับมูลจิ้งหรีดที่เหลือได้นำไปแปรรูปเป็นมูลจิ้งหรีดอัดเม็ดจำหน่าย บางส่วนจะแบ่งปันกันระหว่างสมาชิกกลุ่มเพื่อนำไปใช้เป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ พืชผักสวนครัว ที่จะนำมาใช้เป็นวัตดุดิบอาหารของจิ้งหรีด เพื่อลดต้นทุนการผลิตด้านอาหาร อีกทั้งปลอดภัยจากสารพิษ ซึ่งกระบวนการเลี้ยงจิ้งหรีดล้วนเป็นการปฏิบัติตามกรอบแนวคิด BCG Model ที่สร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ภูมิปัญญาพื้นบ้านมาใช้ในแปลงใหญ่จิ้งหรีด ได้แก่ การใช้เครื่องจักรกลเพื่อต้มสุกและอบแห้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (ลดเวลา รักษาสิ่งแวดล้อม) การสร้างเครื่องฆ่าเชื้อแผงไข่ระบบปิดใช้เองในฟาร์ม การเจาะรูท่อน้ำพันด้วยผ้าซับน้ำที่มีความชุ่มชื้นตลอด ไว้ให้จิ้งหรีดกิน ช่วยลดการตกน้ำตายของจิ้งหรีดในลังและป้องกันการเกิดโรคที่มีสาเหตุจากความไม่สะอาด “จิ้งหรีด เป็นแมลงเศรษฐกิจที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงเพียง 45 วัน นับได้ว่าเป็นอีกอาชีพเสริมที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มคนสูงวัยที่ไม่สามารถออกไปทำงานในแปลงเกษตรได้ อีกทั้งใช้พื้นที่เลี้ยงไม่มาก ใช้น้ำน้อย สภาพภูมิอากาศที่ร้อนชื้นเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของจิ้งหรีดมาก และจิ้งหรีดจะเลือกกินเฉพาะอาหารที่ปลอดภัยเท่านั้น เพราะหากได้รับสารพิษจิ้งหรีดจะตายทันที จึงอาจกล่าวได้ว่า การเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นการสนับสนุนการผลิตพืชอาหารที่ปลอดภัยสร้างความยั่งยืน ให้กับสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้น จิ้งหรีด จึงได้รับการยกย่อง ให้เป็นปศุสัตว์รักษ์โลก ซึ่งยังสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย BCG Model อีกด้วย หากท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตจิ้งหรีด สามารถสอบถามได้ที่ สศท.2 โทร 0 5532 2658 หรือ อีเมล์ [email protected]” ผู้อำนวยการ สศท.2 กล่าวทิ้งท้าย




