“ต้นมะระ” จัดเป็นพันธุ์ไม้เลื้อยเขตร้อน เป็นพืชผักอาหารที่อยู่คู่กับคนเอเชียมาช้านาน โดยมะระแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดี นั่นก็คือ มะระขี้นก และ มะระจีน ซึ่งเป็นที่นิยมนำมารับประทานมากกว่ามะระขี้นก
มะระขี้นก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Momordica charantia L.) เป็นผักผลไม้พื้นบ้านที่ขึ้นได้ทั่ว ๆ ไป เลื้อยพันต้นไม้อื่น มีมือเกาะ ลำต้นเป็นเหลี่ยมมีขนปกคลุม ใบเดี่ยว ออกสลับลักษณะคล้ายใบแตงโมแต่เล็กกว่า มีสีเขียวทั้งใบ ขอบใบหยัก เว้าลึก มี 5-7 หยัก ปลายใบแหลม ออกดอกเดี่ยวตามง่ามใบ สีเหลืองอ่อน มี 5 กลีบ เกสรมีสีเหลืองแก่ถึงส้ม กลีบดอกบาง ช้ำง่าย ลูกเล็กรูปร่างคล้ายกระสวย ผิวเปลือกขรุขระและมีปุ่มยื่นออกมา ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีเหลืองอมแดง ปลายผลจะแตกเป็น 3 แฉก นกชอบมาจิกกินทั้งผลและเมล็ด แล้วก็ถ่ายเมล็ดไว้ตามที่ต่าง ๆ จึงเรียกกันว่า มะระขี้นก
การปลูกมะระขี้นกนั้น ควรปลูกในพื้นที่ที่มีแสงแดดทั่วถึง ไม่เกี่ยงว่าเป็นดินแบบไหนขอให้มีความชุ่มชื้น ดินไม่เปรี้ยวไม่เค็มก็เติบโตได้แล้ว การเตรียมดินก็ไถดะลึกประมาณ 1 ฟุต แล้วตากดินฆ่าเชื้อไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ กำจัดหญ้าวัชพืชแล้วแตกดินให้ย่อยตัวและซุยมากขึ้น ทำแปลงยกร่องขึ้น 1 ฟุต เว้นทางเดินระหว่างแปลงเพื่อจะได้เข้าไปดูแลให้น้ำ ให้ปุ๋ย กำจัดศัตรูพืชได้ง่าย เติมปูนขาวกับปุ๋ยคอกประมาณไร่ละ 2 ตันก็เพียงพอแล้ว
มะระขี้นก ที่นิยมปลูกกันมี 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ไซเบอร์ ทรงรียาว และพันธุ์มดดำ ที่ทรงจะสั้นกว่าพันธุ์ไซเบอร์เล็กน้อย ทั้ง 2 พันธุ์นี้ทนต่อโรคและแมลง ให้ผลผลิตดีมาก เราต้องเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ดี แข็งแรง มีอัตราการให้ผลผลิตสูง แล้วนำเมล็ดมาเฉือนหัวออกแล้วแช่น้ำให้งอกรากได้ง่าย แล้วนำไปเพาะในถาด 3 สัปดาห์ สังเกตได้จากต้นกล้าจะเริ่มผลิใบแตกออกมาบ้างแล้ว ก่อนจะย้ายไปลงแปลงที่เราเตรียมไว้แล้ว โดยทั่วไปเราจะใช้เมล็ดประมาณ 3 ลิตรต่อไร่
เมื่อย้ายต้นกล้ามาลงแปลงปลูก ให้เลือกเฉพาะต้นที่แข็งแรงเท่านั้น เว้นระยะห่างระหว่างต้นกล้า 2 ฟุต เผื่อเติบโต เพราะมะระขี้นกเป็นไม้เลื้อย เราต้องเผื่อที่ทำค้างให้เลื้อยไว้ด้วย แล้วเมื่อลงต้นกล้าเสร็จให้นำฟางมาคลุมเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดิน และทำการให้น้ำทันที แต่อย่าให้เยอะจนระบายไม่ทัน และจะต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งช่วงแทงดอกต้องห้ามขาดน้ำเลย ใช้เวลาไม่เกิน 3 สัปดาห์เถาก็จะเลื้อยไปตามเสาและค้างที่ทำไว้ พอผลเริ่มออกเราก็ควรห่อพลาสติกกันแมลงจากนั้น รอจนต้นมะระขี้นกอายุราว 3 สัปดาห์ก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวออกสู่ตลาดกันได้แล้ว ลงทุนปลูก 1 รุ่น สามารถเก็บผลผลิตได้สูงสุดถึง 20 ครั้ง เกษตรกรบางคนก็นำมาแปรรูปต่อ ทำราคาได้อีก ทั้งชา ทั้งอบแห้ง
มะระขี้นก มีรสขมกว่ามะระจีน จึงนิยมกินในหมู่ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ผลอ่อนนำไปต้มหรือเผากินได้ทั้งลูก ผลแก่ต้องนำมาผ่ากลาง คว้านเมล็ดออกเสียก่อน การลดความขมของมะระขี้นกนั้นทำได้โดยต้มน้ำให้เดือดจัด ใส่เกลือสักหยิบมือ ลวกมะระในน้ำเดือดสักครู่ มะระจะยังคงมีผลสีเขียวสด หรือจะต้มกินกับน้ำพริกก็ได้ บางครั้งราดด้วยกะทิสดเพื่อเพิ่มรสชาติ
การปรุงแกงจืดมะระขี้นกยัดไส้หมูสับ ต้องต้มนานหน่อยให้ความขมจางลง หรือปรุงอาหารเผ็ด เช่น พะแนงมะระขี้นกยัดไส้ หรือเป็นแกงเผ็ดก็ได้ ถ้าจะนำไปปรุงอาหารผัด เช่น ผัดกับไข่ ให้ต้มน้ำแล้วเททิ้งหนึ่งครั้ง
นอกจากใช้ผลเป็นอาหารแล้ว ใบของมะระขี้นกก็นำมาทำอาหารได้ แต่ไม่นิยมกินสดเพราะมีรสขม ยอดมะระลวกเป็นผักจิ้มกินกับน้ำพริก หรือกับปลาป่นของชาวอีสาน ยิ่งเด็ดยิ่งแตกยอดเพิ่มอีก ทางภาคเหนือนิยมนำยอดมะระสดมากินกับลาบ หรือนำไปทำแกงคั่ว แกงเลียง และแกงป่า ได้รสน้ำแกงที่ขมเฉพาะตัว
ทางอีสานนิยมนำใบมะระขี้นกใส่ลงไปในแกงเห็ดแบบพื้นบ้านจะทำให้แกงมีรสขมนิด ๆ กลมกล่อมมาก บ้างนิยมนำใบมะระมาต้มหรือลวกจิ้มน้ำพริก
มะระจีน
มะระจีน เป็นไม้เถาเลื้อย ลำต้นมีลักษณะเหลี่ยม เถาเลื้อยมีสีเขียว มีขนเล็กๆ จะมีมือเกาะบนเถา อยู่บริเวณใต้ข้อต่อของใบ
- ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันคนละข้างตามเถา มีลักษณะเป็นแฉกเว้าลึก 5 แฉก โคนใบมีลักษณะกลม มีก้านใบยาว ใบมีสีเขียว มีขนสากเล็กๆ มีมือเกาะยื่นออกมาจากที่ข้อ
- ราก เป็นระบบรากแก้ว รากมีลักษณะกลม แทงลึกลงดิน มีรากแขนงและรากฝอยเล็กๆ แทงออกตามรอบๆ มีสีน้ำตาล
- มือเกาะ มีลักษณะกลม เป็นเส้นเล็กๆ คล้ายหนวดขนาดเล็กๆ แตกออกบริเวณข้อใต้ใบของเถา จำนวนมือเกาะ 1 เส้นต่อข้อ ส่วนปลายมีขนาดเล็กสุดม้วนงอ จะม้วนงอเข้ายึดเกาะรอบข้าง ยึดลำต้นเพื่อเลื้อยแผ่ขึ้นที่สูง ใช้มือเกาะใช้ปลายหนวดม้วนใช้ยึดของ เป็นเกลียวพันรอบคล้ายสปริง
- ดอก ดอกเป็นดอกเดี่ยว มีลักษณะรูประฆัง กลีบดอกจะมีเหลือง ก้านดอกยาว ออกตามซอกใบ
- ผล มีลักษณะทรงยาวรี เปลือกบาง ผิวขรุขระมีร่องลึกตามยาว ผลใหญ่เนื้อหนา ผลดิบจะมีสีเขียวอ่อน ใช้รับประทาน เมื่อผลสุกจะมีสีแดง แต่รับประทานไม่ได้ ภายในผลจะมีหลายเมล็ด มีเนื้อฉ่ำน้ำ มีรสชาติขม
- เมล็ด จะอยู่ภายในผล จะมีเมล็ดเล็กๆจำนวนมาก เรียงอยู่ข้างในผล เมล็ดมีลักษณะกลมแบนรี ผิวเรียบ เปลือกเมล็ดแข็ง สีน้ำตาล
“มะระจีน”เป็นพืชที่นิยมปลูกกันมากในประเทศไทย และเป็นสายพันธุ์เดียวกับมะระขี้นก โดยมะระจีนเป็นพืชปีเดียว สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล และปลูกขึ้นได้ดีกับดินแทบทุกประเภท แต่ดินควรมีความชื้นสูงสม่ำเสมอ และควรได้รับแสงแดดเต็มที่ตลอดทั้งวัน มะระจีนที่ปลูกในประเทศส่วนมากมีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 45-50 วัน การเก็บมะระควรเก็บวันเว้นวัน เลือกผลที่โตได้ขนาด มีสีเขียวยังไม่แก่เกินไป ถ้าเริ่มมีสีขาวและเริ่มแตกถือว่าแก่เกินไป
ส่วนวิธีการขยายพันธุ์มะระจีน สามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการหยอดเมล็ดหรือปลูกจากต้นกล้าเท่านั้น โดยมีวิธีการดังนี้
การเตรียมดินทำการไถพรวนดิน พร้อมกำจัดวัชพืช และตากแดดประมาณ 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดดิน แล้วทำแนวปลูกด้วยการขึงเชือก หรือกะระยะในระยะระหว่างแถว 1-1.5 เมตร แล้วทำการไถตามจุดของแนวปลูกตามแนวยาวของแปลงให้เป็นร่องลึกประมาณ 30 ซม. จากนั้นหว่านโรยปุ๋ยหมักหรือมูลโค ปริมาณ 1,000 กก./ไร่ และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ปริมาณ 30 กก./ไร่ แล้วทำการไถกลบหรือกลบแนวร่อง ตากดิน 2-3 วัน
การเตรียมกล้าทำการเพาะกล้าในกระบะเพาะกล้า โดยใส่ดินผสมมูลสัตว์ หรือ วัสดุอื่นๆ เช่น ขี้เถ้า กากมะพร้าว แล้วรดน้ำให้ชุ่ม วันละ 1-2 ครั้ง เช้า-เย็น หากกล้าเริ่มแตกใบ 4-6 ใบ หรือ 15-20 วัน สามารถนำมาปลูกได้
วิธีการปลูก การปลูกด้วยกล้ามะระ ให้ปลูกในระยะห่างของหลุม 1.5-2 เมตร แต่หากเป็น การปลูกด้วยการหยอดเมล็ด ให้หยอดเมล็ด 1-2 เมล็ด/หลุม ในระยะห่างของหลุมเช่นเดียวกัน หลังการปลูกหรือหยอดเมล็ดเสร็จ ต้องรดน้ำหลุมปลูกให้ชุ่ม