“แตงกวา”เป็นพืชผักที่มีความสําคัญทางเศรษฐกิจ นิยมบริโภคอย่างแพร่หลาย ทั้งในรูปแบบผลสดและนำไปแปรรูป ตลอดจนปัจจุบันมีการนำไปใช้ในการทางการแพทย์ เครื่องสำอางและยารักษาโรคจึงนับว่า”แตงกวา”เป็นพืชอยู่ในความสนใจของเกษตรกร เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้น บางสายพันธุ์ใช้เวลาในการปลูกเพียง 30–35 วัน ก็เริ่มเก็บผลผลิตมีดแรกและออกผลผลิตต่อเนื่อง ดังนั้นควรใส่ใจในขั้นตอนการเพาะปลูก ตั้งแต่การเลือกสายพันธุ์ ตลอดจนการดูแลและบำรุงให้เหมาะกับระยะการเจริญเติบโตของพืช เพื่อให้ได้แตงกวาเกรดเอ เก็บขายต่อเนื่องได้หลายมีด สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกตลอดทั้งปี
สายพันธุ์แตงกวา
แตงกวา สายพันธุ์เบลล่า มีลักษณะเด่น คือ ต้นแข็งแรง เจริญเติบโตเร็ว ทนโรค ปลูกง่าย ปรับตัวได้ทุกสภาพดิน ทนทุกสภาพอากาศ อายุการเก็บเกี่ยว 32–35 วัน (หลังหยอดเมล็ดพันธุ์) นอกจากนี้ ลักษณะผลตรง ทรงกระบอก ผลสีเขียวสวย ความยาวผลประมาณ 12-13 เซนติเมตร ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 5-6 ตัน
แตงกวา สายพันธุ์ แบม แบม มีจุดเด่นที่ปลูกง่าย ต้นเจริญเติบโตได้ดีในช่วงฤดูหนาว แนะนำปลูกช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และยังให้ผลผลิตไว อายุการเก็บเกี่ยวสั้นเพียง 28-32 วัน (หลังหยอดเมล็ดพันธุ์) และยังให้ผลดก ติดผลตั้งแต่โคนต้น ส่วนผลเป็นทรงกระบอก สีเขียวเนียนสวย มีความยาวของผลอยู่ที่ 10-12 เซนติเมตร ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 5-6 ตัน
แตงกวา สายพันธุ์ เขียวมาลัย 2 มีลักษณะเด่นคือ ต้นแตกแขนงดี เหมาะกับอากาศร้อนและทนต่อโรคราน้ำค้างและไวรัส แนะนำปลูกช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม อายุการเก็บเกี่ยว 35 วัน (หลังหยอดเมล็ดพันธุ์) สามารถเก็บได้ต่อเนื่องยาวนาน ความยาวผลเฉลี่ย 12 เซนติเมตร ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 5-6 ตัน
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
– เมล็ดแตงกวา
– ดินร่วนปนทรายที่ผ่านการตากแดดมาแล้ว
– ปุ๋ยหมัก
– กระถางสำหรับปลูกกล้าและกระถางขนาดใหญ่เพื่อลงต้นแตงกวา
– ตะเกียบหรือไม้ไผ่ สำหรับทำหลักให้เถาเลื้อยพัน
– กรรไกรสำหรับถอนต้นกล้า
– ซุ้มไม้ระแนงหรือรั้ว สำหรับคนที่เน้นปลูกในสวน
ขั้นตอนการปลูกแตงกวา
1. เตรียมเมล็ดแตงกวา
เนื่องจากสถานที่ปลูกของแต่ละบ้านอาจจะมีสภาพอากาศที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นเมล็ดพันธุ์แตงกวาควรเป็นเมล็ดที่มีลักษณะแข็งแรงและสมบูรณ์จึงจะได้ผลดี
2. เตรียมดินให้พร้อม
ดินที่จะนำมาปลูกแตงกวานั้นจะต้องเป็นดินร่วนปนทรายสามารถระบายน้ำได้ดี และจะต้องได้รับสารอาหารจากแสงแดดอย่างเพียงพอ จากนั้นผสมดินกับปุ๋ยหมักในอัตราส่วน 50:50 แนะนำให้ผสมเศษใบไม้ในสวนลงไปด้วย เพื่อปรับสภาพดินให้เหมือนการปลูกลงพื้นดิน
3. เพาะกล้าในกระถาง
นำกระถางขนาดเล็กมาเพาะกล้าก่อน โดยใส่กรวดหรือเศษหินมารองพื้นกระถาง เพื่อให้น้ำระบายออกได้ดีและป้องกันความชื้นที่อาจทำให้เกิดโรครา ต่อมาก็จัดการเทดินที่ผสมปุ๋ยหมักเอาลงไปในกระถาง
4. ขุดดินลงกล้า
ขุดหลุมดินตรงกลางกระถางให้ลึกประมาณ 1.2 เซนติเมตร แล้วนำเมล็ดแตงกวาที่เราเตรียมไว้ใส่ลงในหลุมประมาณ 4-5 เมล็ด วางเรียงให้กระจาย ไม่ควรโรยให้เมล็ดซ้อนทับกัน รดน้ำให้ชุ่มแต่อย่าแฉะ ที่สำคัญต้องสังเกตด้วยว่าน้ำนั้นระบายออกมาได้ดีหรือไม่ด้วย
5. นำกระถางไปตั้งในที่ที่มีแดด
แตงกวาปลูกได้ดีในที่อากาศอบอุ่นไม่ร้อนและไม่เย็นชื้นจนเกินไป ดังนั้นหากใครปลูกในอาคารควรตั้งกระถางเอาไว้ในที่ที่แดดส่องถึง แต่ถ้าปลูกไว้ในสวนให้วางไว้ในที่โล่งและมีแดดส่องถึงก็พอ
6. ถอนกล้าย้ายกระถางใหญ่
เมื่อต้นกล้าเริ่มงอกยาวขึ้นมาประมาณ 5-7 เซนติเมตร ให้ถอนต้นกล้าที่สภาพไม่สู้ดีหรืออ่อนแอที่สุดทิ้งไป ให้เหลือเฉพาะต้นกล้าที่แข็งแรงและสภาพดีเอาไว้ 2 ต้นเท่านั้นพอ แต่ต้องถอนอย่างระมัดระวังอย่าให้ไปกระทบต้นที่แข็งแรงเด็ดขาด จากนั้นนำต้นแตงกวาที่ได้ไปปลูกในกระถางที่มีขนาดใหญ่
7. ปักหลักไว้ให้เถาเลื้อย
หากใครที่ต้องการให้ต้นมีขนาดเล็กเป็นทรงพุ่มสำหรับปลูกในอาคารหรือพื้นที่แคบ ให้หาแท่งตะเกียบมาปักลงในดินเพื่อเป็นหลักให้ต้นเลื้อยพัน แต่ถ้าต้องการให้ต้นเถาเลื้อยขึ้นเป็นซุ้มก็ควรจะหาไม้ไผ่อย่างยาวมาปักลงในกระถาง แล้ววางไว้ใกล้ ๆ กับซุ้มไม้ระแนงหรือรั้วที่เราเตรียมไว้ก็พอ ซึ่งวิธีปล่อยเถาเลื้อยนี้จะดีกว่าทรงพุ่มเพราะผลแตงกวาจะตั้งตรงสวยงาม ไม่มีโรค และป้องกันแมลงได้ดีกว่าอีกด้วย
วิธีการดูแล
แตงกวาเป็นพืชที่ชอบน้ำมากและต้องการน้ำถึง 3 ลิตรต่อวัน เวลารดน้ำให้รดอย่างระมัดระวังอย่าให้โดนเถาหรือลำต้นมิเช่นนั้นจะต้นเน่าเอาได้ ทางที่ดีควรจะรดน้ำที่ดินโคนต้นให้ชุ่มและมั่นใจว่ารากนั้นโดนน้ำ หมั่นตรวจเช็กการระบายน้ำให้ดีอย่าให้มีน้ำขัง วางกระถางให้โดนแสงแดดอย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง หมั่นใส่ปุ๋ย และพรวนดินในช่วงระยะแรก ๆ เพื่อกำจัดวัชพืชเท่านั้นพอ
ระยะเวลาเก็บเกี่ยว
ระยะเก็บเกี่ยวแตงกวาหลังจากที่นำเมล็ดลงดินไปแล้วนั้นประมาณ 60 วันขึ้นไป สังเกตให้ผลแตงกวามีความยาวอยู่ที่ 7 เซนติเมตรขึ้นไป ก็เก็บมาประกอบอาหารหรือฝานไปประทินผิวเพื่อความงามได้เลย