กรณี กรมวิชาการเกษตร ส่งเรื่องไปยังสาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี เพื่อให้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับ 20,000 บาท กับผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนที่ตรวจเจอสาร BY2 ที่ผลทุเรียน ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 นั้น
ล่าสุด ประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร /ผู้ประกอบการส่งออก และชาวสวน ต่างออกมาท้วง และติง มาตรการดังกล่าวที่กรมวิชาการเกษตร เลือกดำเนินการ
นายศักดินัย นุ่มหนู่ ประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความว่า
“บอกตามตรงว่า หงุดหงิดมาก คิดไม่ถึงเลยจริงๆว่า หน่วยงานกรมวิชาการเกษตร จะใช้วิธีการแก้ไขปัญหา อย่างตื้นเขินเช่นนี้
ตั้งแต่เดือนมกราคม หลังจากที่ทางการจีนเริ่มมีมาตรการเข้มงวดเอาจริงเอาจังเรื่องสารตกค้างBY2และแคดเมียมในทุเรียน เราได้เห็นทุกภาคส่วน ทั้งชาวสวน โรงคัดบรรจุ และผู้ประกอบการส่งออก ต่างตั้งใจอย่างเต็มที่ ที่จะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ ไร้สารตกค้าง “ทำเต็มที่” #เพื่อที่ชาวสวนจะได้ขายทุเรียนได้ “ทำเต็มที่”#เพื่อโรงคัดบรรจุและผู้ประกอบการส่งออกจะส่งสินค้าไปขายต่างประเทศได้ เพราะทุกคนทราบดีว่า ถ้าทุเรียนของภาคตะวันออก ส่งออกไม่ได้ ใครคือผู้ที่เดือดร้อนที่สุด.. ก็ไม่พ้นต้องเป็นเกษตรกรชาวสวนอีกเช่นเคย
ทั้งตัวผมในฐานะ สส.จังหวัดตราด สส.จังหวัดจันทบุรีทั้ง 3 เขต และสส. จังหวัดระยอง ต่างใช้ความตั้งใจอย่างเต็ม ใช้บทบาทในฐานะของฝ่ายนิติบัญญัติ และกลไกคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการส่งเสริม ผลักดัน เพื่อให้การส่งออก ทุเรียนเป็นไปอย่างราบรื่น เกษตรกรชาวสวน เก็บผลผลิตออกขาย ได้ราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม
พอมาทราบข่าวว่า กรมวิชาการเกษตร ส่งเรื่องให้สาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี ให้เชิญผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุแห่งหนึ่ง ในจังหวัดจันทบุรี มาพบ เพื่อเปรียบเทียบปรับ ตามพรบ.อาหาร พ.ศ 2522 เมื่อมีการตรวจพบว่าโรงคัดบรรจุแห่งนี้ มีทุเรียน ที่ปนเปื้อนสาร BY2ระดับ 3.26 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และมีอัตราโทษปรับถึง 20,000 บาท
..จะเอาแบบนี้กันจริงๆเหรอ กรมวิชาการ ช่วยเขาตรวจสอบสิครับว่าสารBY2นี้มาจากที่ไหน อย่างไร ช่วยกันหาสาเหตุ และหาทางป้องกันสิครับ พวกเขาทำมาหากินอย่างสุจริตนะครับ
เวลานี้ล้งทั้งหลายเขาคิดกันอย่างไร ทราบไหมครับ เขาบอกว่า เมื่ออุปสรรคมันเยอะนักก็หยุดมันซะเลย ทีนี้จะเกิดอะไรขึ้น กับเกษตรกรชาวสวนทุเรียน ภาคตะวันออกของเรา..
ขณะที่ น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน เลขาธิการคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความว่า
” จากเรื่องนี้ เล็กได้หารือกับทางตัวแทนของกรมวิชาเกษตรแล้ว ว่าเรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมถึงได้มีเอกสารนี้ออกมา ได้มีการลงไปตรวจหาสาเหตุของการพบสาร BY2 หรือไม่ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เมื่อดูจากปริมาณของสารที่พบ ก็สันนิษฐานได้ว่า ไม่น่าจะเป็นการจงใจชุบสาร BY2 ดังนั้นควรหรือไม่ที่ อย. จะมีคำสั่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจันทบุรีเปรียบเทียบเบี้ยปรับเป็นจำนวนเงินถึง 20,000 บาท แนวทางการแก้ไขปัญหาแบบนี้จะเป็นแนวทางในการดำเนินการกับทุกล้งต่อไปด้วยหรือเปล่า และแนวทางแบบนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่อง BY2 ได้จริงหรือไม่ และจะแก้ปัญหาเรื่องนี้เร่งด่วนอย่างไร
ทางตัวแทนจากกรมวิชาเกษตร ชี้แจงว่าจะช่วยหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด โดยจะประชุมร่วมกับกรมวิชาการเกษตร / ฝ่ายกฎหมายของกรมวิชาการเกษตร / อย. / ฝ่ายกฎหมายของ อย. และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี เร็วที่สุดอาจจะเป็นการประชุมผ่านซูมในวันพรุ่งนี้
เล็กจะติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องอีกครั้ง ว่าได้ผลเป็นอย่างไร และได้หารือกับทาง สส.ศักดินัย นุ่มหนู จ.ตราด ไว้แล้วว่า หากไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน จะนำเรื่องนี้เข้าประชุมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขในอนุกรรมาธิการทุเรียนหรือกรรมาธิการการเกษตรฯ อีกครั้ง ‘
ด้านนายมณฑล ปริวัฒน์ นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด เปิดเผยว่า มาตรการที่กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการกับผู้ประกอบการแรงเกินไป เพราะผลการตรวจพบสาร Basic Yelow 2 บนเปลือก เพียงแค่ 3.26 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ซึ่งถือว่าน้อยมาก /การตรวจเจอก็พบในผลทุเรียนที่มีการส่งตรวจใน LAB ของไทย ยังไม่ได้มีการจำหน่ายออกไปยังต่างประเทศ และหากการปนเปื้อนสาร BY2 ที่ตรวจพบ หากพบว่าเป็นการปนเปื้อนจากการชุบสารดังกล่าวควรดำเนินคดีได้ทันที แต่ในปัจจุบันไม่มีผู้ประกอบการรายใดทำการชุบสารที่ผลทุเรีบนแล้ว
นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด ระบุว่า หาก กรมวิชาการเกษตร ชี้แจงและแจ้งผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ ว่า จะเริ่มใช้มาตรการยาแรงนี้ พร้อมกำหนดวันให้ชัดเจน ผู้ประกอบการจะได้ตั้งตัวและเตรียมพร้อม แต่การใช้ยาแรงโดยที่ไม่บอกกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการเดือดร้อน จึงอยากให้กรมวิชาการเกษตร ทบทวน และแจ้งให้ทราบล่วงหน้า