กยท. เดินหน้าสร้างเครือข่ายพันธมิตร ลงนาม 2 MOU ขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ – ยกระดับผลิตภัณฑ์ล้อยางไทยแบรนด์ “Greenergy Tyre”

ภาพกยท1 scaled

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 68 ภายในงานวันยางพาราภาคตะวันออก ประจำปี 2568 จ.จันทบุรี – การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 2 ฉบับ กับพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันเกษตรกรฯ ผลักดันความร่วมมือด้านโลจิสติกส์สนับสนุนผลิตภัณฑ์ยาง กยท. กับ บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด และความร่วมมือด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราแบรนด์ “Greenergy Tyre“ กับบริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และสหกรณ์ตราดยางพารา จำกัด มุ่งยกระดับ – พัฒนานวัตกรรมแปรรูปยางพาราอย่างครบวงจร ควบคู่กับการวางระบบโลจิสติกส์ยางที่มีประสิทธิภาพ

ภาพกยท2 scaled

ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงทั้ง 2 ฉบับที่ กยท. ได้ลงนามในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของ กยท. ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางผ่านการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับแรกระหว่าง กยท. กับ บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และสหกรณ์ตราดยางพารา จำกัด มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ล้อยางมอไซค์แบรนด์ “Greenergy Tyre” ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐาน โดยทางด้านบริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามาส่วนช่วยในเรื่องการนำเอาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตที่มีมาตรฐานเทียบเท่าประเทศญี่ปุ่นเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตล้อยางมอไซค์แบรนด์ “Greenergy Tyre” โดยใช้วัตถุดิบยางพาราจากพี่น้องเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางส่งยางเข้าสู่กระบวนการผลิต เพิ่มมูลค่าให้กับยางไทยจากวัตถุดิบสู่ผลิตภัณฑ์แปรรูปเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ จะเป็นการสนับสนุนช่องทางประชาสัมพันธ์และการตลาด พร้อมขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านผลิตภัณฑ์ยางในภูมิภาค ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจของ กยท. ในการสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมยางอย่างยั่งยืน และสอดรับกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรและการสร้างเสถียรภาพด้านราคา ทั้งนี้ จะต่อเนื่องไปกับอีกหนึ่งบันทึกข้อตกลงที่ กยท. และ บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด ได้ลงนามร่วมกัน ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงาน จะดำเนินงานร่วมกันโดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบโลจิสติกส์แบบครบวงจรครอบคลุมการวางแผนเส้นทางขนส่ง การบริหารจัดการคลังสินค้า การติดตามสถานะสินค้าแบบเรียลไทม์ และการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการขนส่งผลิตภัณฑ์ยาง เป็นการลดต้นทุน เพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการยางพารา ซึ่งจะช่วยให้การจัดส่งผลิตภัณฑ์ยางพาราของ กยท. อาทิ ยางล้อมอไซค์ หมอนยางพารา และผลิตภัณฑ์ยางพาราอื่นๆ ถึงมือผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รองรับความต้องการของลูกค้าและตอบโจทย์การบริการอย่างมีคุณภาพในอนาคต

ภาพกยท3 scaled

“การลงนาม MOU ทั้ง 2 ฉบับในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการยกระดับศักยภาพของห่วงโซ่อุปทานยางพาราไทย ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในระยะยาวต่อไป” ดร.เพิก กล่าวทิ้งท้าย

ภาพกยท4 scaled
ภาพกยท5 scaled
ภาพกยท6 scaled
ภาพกยท7 scaled
ภาพกยท8 scaled
ภาพกยท9
ภาพกยท10